นายกฯ ประกาศ 4 เรื่องใหญ่ฟื้นประเทศหลังโควิด คืนความสุขให้คนไทยโดยเร็ว

19 พ.ค. 2565 | 11:01 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 18:11 น.

นายกฯ ประกาศดัน 4 เรื่องใหญ่ ฟื้นประเทศและเศรษฐกิจไทย หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รับอาจจะทำงานไม่ทันใจก็ขอให้เข้าใจ พร้อมนำความสุขกลับมาให้คนไทยโดยเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม ในงาน Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม ว่า หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมที่จะเติบโตด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ 

 

ทั้งนี้มีสิ่งที่ต้องทำด้วยกัน 4 เรื่องใหญ่ ดังนี้

 

เรื่องที่ 1 เทคโนโลยีดิจิทัล

 

โดยยอมรับว่า ในช่วงวิกฤตโควิด–19 รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น อย่างก้าวกระโดด ทั้งการทำธุรกรรมและการให้บริการรูปแบบต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ และการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม การค้า e-Commerce และการใช้ Digital Banking โดยรัฐบาลได้วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลส่งเสริมให้เกิด สังคมไร้เงินสด ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มและมาตรการต่างๆ จนประสบผลสำเร็จ ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในขณะนี้ ได้แก่ 

 

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการพร้อมเพย์ และ QR Payment การจัดทำ G-Wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ทั้งแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง และ ถุงเงิน เพื่อใช้ในโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และชิมช้อปใช้ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับการคืนภาษี VAT ให้กับนักท่องเที่ยว และการออกพันธบัตรรัฐบาล อีกทั้งยังส่งเสริมการทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการลงทะเบียนด้วยระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน 

 

ขณะที่โครงข่าย 5G ที่รัฐบาลได้วางไว้ จะสามารถรองรับการพัฒนา ต่อยอดในระบบอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดธุรกิจแห่งอนาคตใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ SME และ Startup เกิดขึ้นตามมาอีกหลากหลายสาขา ทั้งด้านสาธารณสุข และคมนาคม 

เรื่องที่ 2 อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน

 

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลก ในการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26

 

โดยประเทศไทยต้องใช้โอกาสเร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรม คิดค้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มุ่งไปสู่สินค้าและบริการ ที่สร้างผลกระทบให้โลก น้อยที่สุด ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางการค้า การส่งออก และภาคธุรกิจไทย

 

ส่วนภาคพลังงาน การผลิตไฟฟ้า รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างพลังงานลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รัฐบาลกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไม่ปล่อยมลพิษ 30% ของการผลิตในปี 2573 ทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถบัส และรถบรรทุก พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้าด้วย

 

ขณะที่การปลูกและเพิ่มพื้นที่ป่า และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลมีแผนในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จาก 31.8% เป็น 40% ในปี 2579 และพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ให้ท้องถิ่นก็จะมีรายได้จากการปลูกป่า ต้นไม้ ที่เข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

เรื่องที่ 3 นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model)

 

รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG โดยมีแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็ง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยเป็นเกษตรอัจฉริยะ ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ลดเสี่ยงจากลมฟ้าอากาศและปัจจัยการผลิตที่เป็นปัญหาซ้ำซาก

 

รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ โดยได้มีการร่วมลงทุนกับผู้นำระดับโลก 

 

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อการรักษา หรือชาร์ตแบตร่างกาย การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย และมรดกทางวัฒนธรรม” (Soft Power) 

 

เรื่องที่ 4 รัฐบาลได้กำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย 

 

โดยชาวต่างชาติที่มีศักยภาพนี้ คือ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง หรือเป็นผู้มีทักษะสูง เช่น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง และกลุ่มผู้เกษียณอายุ จากต่างประเทศ ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว เช่น การออกวีซ่าของผู้พำนักระยะยาว การประกาศใบอนุญาตทำงาน และการศึกษาโครงสร้างเพื่อจัดตั้ง One Stop Service ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีศักยภาพสูงให้เข้ามาในประเทศไทย

 

ส่วนความร่วมมือนะหว่างประเทศในปี 2565 นี้ มีความคืบหน้าครั้งสำคัญๆ เช่น การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย หลังจากห่างหายมากว่า 30 ปี โดยเริ่มเกิดความร่วมมือในการเปิดประเทศ เพื่อท่องเที่ยว ไปมาหาสู่กันในทุกระดับอีกครั้ง – การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร และแรงงาน – การลงทุนและร่วมมือด้านพลังงาน เป็นต้น 

 

ความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น เช่น การผลักดันให้ไทยเป็น “ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ในภูมิภาคและเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบราง โครงข่ายดิจิทัล 5G การพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายและเพิ่มการลงทุนใน EEC โดยญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีการลงทุน ในไทยมากที่สุด ในปี 2564 ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 80,000 ล้านบาท ในปี 2565 มีการลงทุนใน EEC กว่า 630 ล้านบาท

 

"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลเข้าใจในความขุ่นเคืองไม่พอใจของประชาชน กับวิกฤติที่ยืดเยื้อติดต่อกันกว่า 2 ปี และมีวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นอีก รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องชาวไทยโดยเร็ว แต่วิกฤติเหล่านี้เป็นวิกฤติโลก เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ก่อ หรือจะทำให้จบด้วยตัวเราเองได้" นายกฯ ระบุ

 

นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ คือ ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤติที่ยืดเยื้อได้ มีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ และมีอุตสาหกรรมสำหรับรองรับ คนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนทุกด้าน 

 

"ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤติ ไม่ว่ารัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลหน้า อาจจะทำงานไม่ทันใจก็ขอให้เข้าใจ เห็นความจริงใจทุกคน มุ่งมั่นแก้ปัญหา ตั้งใจทำงาน ขอเพียงให้อดทน ร่วมมือ ร่วมใจกัน ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้ง หรือบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง เพราะนี่คือ ประเทศไทยของเรา แผ่นดินนี้ยังมีสิ่งที่งดงาม และอนาคตที่ดีๆ รอพวกเรา และลูกหลานอยู่" นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย