มูลนิธิ EJF แนะไทย ลดกองเรืออวนลาก มหันตภัยใต้ทะเล

18 พ.ค. 2565 | 12:29 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2565 | 20:20 น.
1.4 k

กองเรือประมงอวนลากคู่ไทย มีหนาว “มูลนิธิ EJF” แนะไทย ผ่าน “ประวิตร” ลดกองเรือ มหันตภัยใต้ทะเล ทำลายล้าง สัตว์น้ำทะเลไม่เลือกชนิด

มูลนิธิ EJF แนะไทย ลดกองเรืออวนลาก มหันตภัยใต้ทะเล

 

แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันนี้ (วันที่ 18 พฤษภาคม 2565)  นายสตีฟ เทรนท์ (Mr. Steve Trent) ผู้อำนวยการมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environment Justice Foundation: EJF) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการหารือด้วยนั้น

 

หนึ่งในประเด็นที่หารือ ที่ส่อเป็นปมร้อนในอนาคต กล่าวคือ ทางมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ได้มีการแนะนำให้ดำเนินการลดกองเรืออวนลากของประมงไทยโดยจัดการอย่างระมัดระวังและสามารถวัดผลได้ จากที่ “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเรือประมงมากที่สุดในโลก โดยมีจำนวนมากถึง 61,832 ลำ (ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2564) แบ่งเป็นเป็นเรือประมงพาณิชย์ 10,595 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 51,237 ลำ ทั้งนี้ เรือประมงพาณิชย์ของไทยมีจำนวนลดลง 249 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559

 

ถึงกระนั้น ยังคงมีสัญญาณบ่งชี้ว่า การประมงของไทยยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่ อันเป็นผลจากการปล่อยปละละเลยและบริหารจัดการที่ผิดพลาดมานานหลายทศวรรษ โดยส่วนหนึ่งเป็นเหตุมาจากการอนุญาตให้มีเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือประมงประเภททำลายล้างอย่างเรืออวนลากด้านล่าง สามารถทำประมงต่อได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์นำของไทยเป็นอย่างยิ่ง

 

มูลนิธิ EJF แนะไทย ลดกองเรืออวนลาก มหันตภัยใต้ทะเล

 

ในปัจจุบัน มีเรืออวนลากด้านล่าง ทั้งหมด 3,370 ลำ นับเป็นหนึ่งในสามของจำนวนเรือประมงพาณิชย์ทั้งหมด เรือประมงเหล่านี้จะลากอวนขนาดใหญ่ไปตามพื้นทะเล ทำให้จับปลาเป็ด  มาได้ด้วย ทั้งนี้ "ปลาเป็ด" ไม่เหมาะต่อการบริโภค แต่สามารถใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์น้ำได้

 

 

ผลพวงจากการจับสัตว์น้ำแบบไม่เลือกชนิด คือ เครื่องมือเหล่านี้สามารถจับปลาเศรษฐกิจวัยอ่อน เช่น ปลาแมคเคอเรลและปลาหมึกมาได้เป็นจำนวนมากซึ่งหมายความว่า เรืออวนลากเหล่านี้มักจับปลาอ่อนวัย ก่อนที่ปลาจะมีโอกาสสืบพันธุและขยายประซากรได้ โดยงานวิจัยที่จัดทำขึ้นในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า 81% ของปลาเป็ด เป็นปลาอ่อนวัยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจการทำประมในลักษณะดังกล่าวจะทำให้สัตว์น้ำในแหล่งประมงของไทยหมดไป  หรือตกอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมและไม่มีมูลค่ทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้

 

มูลนิธิ EJF แนะไทย ลดกองเรืออวนลาก มหันตภัยใต้ทะเล

นอกจากนี้ เรืออวนลากยังสร้างความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ในบางจังหวัดจนไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว โดยหากนับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา ค่าประมาณอัตราการจับต่อการลงแรงประมง (วัดปริมาณอาหารทะเลที่จบได้เป็นกิโลกรัมต่อชั่วโมง) น่านน้ำไทยได้เสียหายไปแล้วเกือบ90% ซึ่งเป็นผลกระทบนใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเล (ทั้งเชิงพาณิชย์และขนาดเล็ก)

 

รวมไปถึงภาคส่วนด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทะเลอย่างภาคการท่องเที่ยวรัฐบาลไทยต้องเร่งทบทวนการทำประมงแบบอวนลากด้านล่างในอุตสาหกรรมการประมงไทย และพิจรณาใช้มาตรการ เพื่อติดตามและห้ามไม่ให้มีการลากอวนเกิดขึ้น พร้อมทั้งยับยั้งการใช้เรือประมงขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูง ทั้งนี้ EJF ขอเสนอให้มีการวางแผนยกเลิกอย่างถี่ถ้วนโดยให้ความสำคัญกับ “เรืออวนลากคู่” ขนาดใหญ่ที่สุดก่อน

นอกจากนี้ยังมีการหารือกันในหลายประเด็น ผู้อำนวยการมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อมยินดีที่ได้พบรองนายกรัฐมนตรี และหารือกับคณะผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาลไทยในวันนี้ พร้อมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการประมงไทย โดย EJF ได้ติดตามการทำงานของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และชื่นชมการเป็นผู้นำของรองนายกรัฐมนตรีที่ทุ่มเทแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายและปัญหาด้านแรงงานจนมีความก้าวหน้า ทั้งนี้ EJF ในฐานะพันธมิตรของรัฐบาลไทยเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะประสบความสำเร็จการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายได้ในที่สุด และหวังว่าในอนาคตความสำเร็จเหล่านี้จะช่วยพิสูจน์ยืนยันถึงความพยายามต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาโดยตลอด 

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไทยยังคงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย โดยได้ออกมาตรการ 4 แนวทาง ได้แก่ 1) การดำเนินการตามนโยบาย ในการพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมง IUU (IUU-Free Thailand) อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือ การติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูล

 

มูลนิธิ EJF แนะไทย ลดกองเรืออวนลาก มหันตภัยใต้ทะเล

 

 3) การพัฒนามาตรฐานการควบคุมการนําเข้าสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำ และ 4) การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับของไทย นอกจากนี้ กรมประมงยังได้จัดทำโปสเตอร์และแผ่นพับประชาสัมพันธ์แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และแนวปฏิบัติกรณีลูกเรือเกิดอุบัติเหตุ โดยได้จัดทำทั้งภาษาไทยและอังกฤษ พร้อมขอรับการสนับสนุนจาก EJF ในการจัดแปลแนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นภาษากัมพูชา และเมียนมา ซึ่งผู้อำนวยการ EJF หวังว่าไทยจะร่วมมือกับ EJF อย่างต่อเนื่อง พร้อมยินดีสนับสนุนการแปลแนวปฏิบัติฯ เป็นภาษากัมพูชาและเมียนมา

 

ยืนยันแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ของไทยสอดคล้องกับหลักการเพื่อความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลทั่วโลกของมูลนิธิฯ และยืนยันความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนในการต่อต้านการทำประมง IUU ผ่านศูนย์เครือข่ายอาเซียน โดยได้พัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประมงออนไลน์ ซึ่งได้นำเสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนรับทราบ และภายใต้กรอบความร่วมมือของเอเปค

 

ไทยได้มีการจัดทำ Roadmap ในการต่อต้านการทำประมง IUU โดยได้ร่วมกับสหรัฐฯ และมาเลเซีย จัดทำโครงการจัดการเครื่องมือประมงที่ถูกละทิ้งหรือสูญหาย เพื่อส่งเสริมการทำประมงที่ถูกกฎหมายและยั่งยืน ผู้อำนวยการ EJF ยินดีที่ทราบว่า รัฐบาลไทยมีความคืบหน้าอย่างมากในด้านการใช้กลไกที่โปร่งใส เชื่อว่าการนำหลักปฏิบัติด้านความโปร่งใสของ EJF มาปรับใช้จะช่วยสร้างภาคการประมงไทยให้ยั่งยืนได้ รวมทั้งเชื่อมั่นว่า ไทยจะใช้เวทีเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพให้นานาชาติได้รับทราบถึงความสำเร็จที่ไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

 

อนึ่ง มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF)  เป็นองค์กรเอกชน (NGO) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 มีรายได้หลักมาจากเงินบริจาคและการจัดกิจกรรมระดมทุนจากผู้ประกอบการชั้นนำ และผู้มีชื่อเสียงในสังคม พันธกิจหลักคือการรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ การทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม ตลอดจนการต่อต้านการทำประมง IUU