ทำได้จริงหรือ?ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ลดกระหน่ำค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว

18 พ.ค. 2565 | 09:37 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2565 | 17:22 น.

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" ตั้งคำถาม ทำได้จริงหรือ? ช็อก ! ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โค้งสุดท้ายของการหาเสียงให้คนกรุงเทคะแนน ของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สมัครหลายรายพุ่งเป้าไปที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

ล่าสุด ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่18 พฤษภาคม ระบุว่าเป็นที่ประหลาดใจไปตามๆ กัน เมื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคนหาเสียงว่าจะไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอส แต่จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงเหลือต่ำมาก เช่น 20 บาท ตลอดสาย หรือ 20-25 บาท เป็นต้น

 

มีผู้สนใจหลายคนถามว่าจะเป็นไปได้หรือ ?

1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายไหนแพงที่สุด และสายไหนถูกที่สุด ?
 

ดร.สามารถอธิบายว่า ได้เปรียบเทียบค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายต่างๆ พบว่า ค่าโดยสารต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ของสายสีม่วงแพงที่สุด และของสายสีแดงถูกที่สุด ตามด้วยของสายสีเขียวถูกรองลงมา โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1.1 สายสีเขียว

หากมีการต่อสัญญาให้ผู้รับสัมปทานคือบีทีเอส ค่าโดยสารจะอยู่ระหว่าง 16-65 บาท ใช้น้อยจ่ายน้อย ใช้มากจ่ายมาก แต่ไม่เกิน 65 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างคูคต-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 53 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.23 บาท (65/53)

รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยบีทีเอส

1.2 สายสีน้ำเงิน
 

ค่าโดยสาร 17-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างสุทธิสาร-หลักสอง ระยะทาง 26 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.62 บาท (42/26)
ทำได้จริงหรือ?ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ลดกระหน่ำค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นการลงทุนโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมาณ 80% และผู้รับสัมปทานคือบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ประมาณ 20%


 

 

1.3 สายสีม่วง

ค่าโดยสาร 17-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างเตาปูน-บางใหญ่ (คลองบางไผ่) ระยะทาง 23 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.83 บาท (42/23)
 

 

รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดย รฟม.
 

1.4 รถไฟฟ้าสายสีแดง
 

ค่าโดยสาร 12-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างรังสิต-ตลิ่งชัน ระยะทาง 41 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.02 บาท (42/41)
 

รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

1.5 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
 

ค่าโดยสาร 15-45 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 45 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.5 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.58 บาท (45/28.5)

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เป็นการลงทุนทั้งหมดโดย รฟท.

2. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เสนอโดยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคน ถูกที่สุด !
 

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เสนอโดยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคน ซึ่งหาเสียงว่าจะไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอส แต่จะลดค่าโดยสารลงเหลือต่ำมาก เช่น 20 บาท ตลอดสาย หรือ 20-25 บาท เป็นต้น ค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสาย หรือสูงสุด 25 บาท

 

ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างคูคต-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 53 กิโลเมตร ในกรณีค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสายนั้น หากคิดเป็นค่าโดยสารต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร จะได้เท่ากับ 0.38 บาท (20/53) ถือว่าเป็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ถูกที่สุด !
 

3. สรุป
 

ผมอยากให้ท่านผู้อ่านพิจารณากันเอาเองว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคนที่จะไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอส แต่จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงเหลือต่ำมากนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ ? อย่างไร?
 

ผมเขียนบทความนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะดิสเครดิตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนใดทั้งสิ้น ในทางกลับกัน หากผู้เสนอได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมขอเป็นกำลังใจให้ท่านสามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้สำเร็จ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้โดยสารทุกคน