กบน.ถกตรึงราคาน้ำมันดีเซล พรุ่งนี้ หลังครม.เคาะลดภาษี 5 บาท

17 พ.ค. 2565 | 14:41 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2565 | 22:44 น.

รองนายกฯ เศรษฐกิจ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เตรียมถกคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) หาทางตรึงราคาน้ำมันดีเซล พรุ่งนี้ หลังครม.เคาะลดภาษีสรรพสามติน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคม นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อหารือถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันทั้งหมด และจะนำมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเห็นชอบปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรไปคุยด้วย

 

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวช่วยลดภาระให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้บางส่วน เพราะปัจจุบันกองทุนน้ำมันก็มีภาระในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ โดยรัฐบาลจะพยายามบริหารจัดการเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

“ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ จะคุยกันว่าเป็นยังไง หลังจากที่เคยคุยกันว่า จะมีการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลสัปดาห์ละ 1 บาทต่อลิตร โดยจะนำมติครม.ครั้งนี้เข้าไปคุยใน กบน. ด้วยว่า รัฐบาลจะตรึงราคาอย่างไรต่อไป เบื้องต้นในการลดภาษีสรรพสามิตลงครั้งนี้ ก็คงทำในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะต้องดูเรื่องของการจัดเก็บรายได้ด้วย”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาพลังงานของไทยก็ไม่ได้สูงไปกว่าราคาเพื่อนบ้าน โดยรัฐบาลจะดูแลไม่ให้ราคาสูงขึ้นมากเกินไปนี้ เพราะถ้าไม่มีมาตรการของรัฐบาลเข้าไปช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้ จะทำให้ราคาพุ่งสูงถึงเกิน 40 บาทต่อลิตร เท่าหลาย ๆ ประเทศแน่นอน 

 

แต่หากตรึงราคาจนต่ำเกินไปก็มีความเสี่ยงที่จะลักลอบส่งออกน้ำมันไปประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการช่วยเหลือน้ำมันเบนซิน ตอนนี้ยังไม่มีเพิ่มเติม ขณะที่แนวทางในการจัดหาแหล่งน้ำมันราคาถูกเพิ่มเติม ตอนนี้ก็พยายามหาทุกแหล่งภายในประเทศมากขึ้น 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงกรณีการประกาศตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยปรับลดประมาณการทั้งปีลงจาก 3.5-4.5% เหลือ 2.5-3.5% ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าจะดี ส่วนครึ่งปีหลังคงต้องประเมินสถานการณ์แบบเดือนต่อเดือน ก่อนพิจารณาว่าจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ 

 

โดยขณะนี้แผนต่าง ๆ กระทรวงการคลังกำลังประเมิน เช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ก็กำลังพิจารณาจังหวะที่เหมาะสม เช่น สถานการณ์ในยุโรปยืดเยื้อหรือรุนแรง ก็จำเป็นต้องกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันยืนยันว่า ยังพอมีเงินทำมาตรการ