กระทรวงทรัพย์หนุน BCG โมเดลเมืองพิษณุโลก คัดแยกขยะ ดัน ศก.หมุนเวียน

14 พ.ค. 2565 | 12:52 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2565 | 20:03 น.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนเมืองพิษณุโลก คัดแยกขยะใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิง พร้อมจัดกิจกรรมรับคืนซากอุปกรณ์มือถือ หนุน BCG โมเดล สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน (14 พ.ค. 65) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้เป็นประธานพิธีเปิด "พิษณุโลกเมืองใช้ประโยชน์จากขยะ Phitsanulok the city of recycling"  มีนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วม ณ เทศบาลตำบลบ้านคลอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กิจกรรมในงานมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “การส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทางในสถานประกอบการห้างสรรพสินค้าจังหวัดพิษณุโลก”

 

กระทรวงทรัพย์หนุน BCG โมเดลเมืองพิษณุโลก คัดแยกขยะ ดัน ศก.หมุนเวียน

 

นายอรรถพล กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)โดยกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำโครงการ "พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ" เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชนที่ต้นทาง ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการห้างสรรพสินค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน

 

พร้อมด้วยกิจกรรมการคัดแยกขยะทั่วไปเพื่อนำไปทำเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel หรือเชื้อเพลิงขยะ)  กิจกรรมคัดแยกขยะอินทรีย์ (Food Waste) และกิจกรรมรับคืนซากอุปกรณ์มือถือ (E-Waste) การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการสร้างกลไกให้เกิดการนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด

 

สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ BCG Model โดยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะ โดยมุ่งเน้นจัดการ ณ ต้นทาง สร้างมูลค่าในห่วงโซ่การจัดการขยะ

 

กระทรวงทรัพย์หนุน BCG โมเดลเมืองพิษณุโลก คัดแยกขยะ ดัน ศก.หมุนเวียน

 

กิจกรรมดังกล่าวมีสถานประกอบการห้างสรรพสินค้าเข้าร่วมโครงการ จำนวน 11 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนโครงการ จำนวน 6 แห่ง และหน่วยงานเอกชนสนับสนุนโครงการ ได้แก่ บริษัทวงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับขยะทั่วไปเพื่อนำไปทำเชื้อเพลิง RDF และกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 4 รับขยะอินทรีย์เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์

 

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มโครงการเดือนมีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน สามารถคัดแยกขยะทั่วไปได้ 200 ตัน ขยะอินทรีย์ 10 ตัน และซากอุปกรณ์มือถือ 829 ชิ้น ทำให้สามารถลดภาระและค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะชุมชน ก่อให้เกิดกลไกการคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป