เฮ! แก้กฎหมายดึงเงินชราภาพ ยืมใช้ก่อน เลือกบำเหน็จ บำนาญได้ เข้าครม. วันนี้

10 พ.ค. 2565 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2565 | 15:15 น.
2.5 k

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับ การประชุมครม.วันนี้ เตรียมเสนอแก้กฎหมาย ประกันสังคม ช่วยผู้ใช้แรงงานมีทางเลือกเพิ่มเติม ปลดล็อกนำเงินชราภาพ ออกมายืมใช้ก่อน หรือเลือกบำเหน็จ บำนาญได้ และสามารถใช้เป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ จะมีการพิจารณากำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน หรือนำไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมตาม ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ หลังกระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว

 

โดยสาระสำคัญจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน โดยเฉพาะกรณีชราภาพ สามารถเลือกบำเหน็จ หรือบำนาญ ใช้ค้ำเงินกู้ได้ และขอนำเงินสมทบบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตน ซึ่งเดิมมีเพียงแค่ตัวเลือกเดียวคือการรับเงินบำนาญเท่านั้น

 

ทั้งนี้ในการดำเนินการเรื่องเงินชราภาพนั้น ในรายละเอียดคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน กระทรวงการคลัง จะเป็นผู้นำเสนอเรื่องนี้ให้กับครม.พิจารณา ขณะที่กระทรวงแรงงาน จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เข้าไปยังที่ประชุมครม.วันนี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบพร้อม ๆ กัน

สำหรับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เรียกว่า การจัดทำโครงการ 3 ขอ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ซึ่งที่ผ่านมากำหนดสิทธิให้เพียงอย่างเดียว คือ เมื่อส่งเงินสมทบไปแล้ว 180 เดือนขึ้นไปจะได้เฉพาะเงินบำนาญ

 

สำหรับการดำเนินการทั้ง 3 ขอนั้น มีรายละเอียด ดังนี้ 

  • ขอที่ 1 ขอเลือก เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบคนบตามเงื่อนไขของการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว
  • ขอที่ 2 ขอกู้ เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธินำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้
  • ขอที่ 3 ขอคืน เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิขอนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วนก่อนอายุครบกำหนดได้

“วัตถุประสงค์ของการแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็เพื่อต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกจ้างคนทำงานมั่นใจว่า กองทุนประกันสังคมคือที่พึ่งของผู้ใช้แรงงานจริง ๆ และมีทางออกเพิ่มเติม ถือเป็นประวัติศาสตร์ของกระทรวงแรงงานที่จะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีความสุข และมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุ