นักวิชาการ ชี้นายกฯ เยือนสหรัฐฯ ต้องหนีบนักลงทุนกลับมาอีอีซีด้วย

09 พ.ค. 2565 | 16:13 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2565 | 23:21 น.

นักวิชาการ แนะนายกฯ บิ๊กตู่ ยกคณะเยือนสหรัฐฯ 12 - 13 พฤษภาคม นี้ วัดฝีมือต้องหาโอกาสดึงนักธุรกิจข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีด้วย แม้การเดินทางครั้งนี้จะเชื่อจะหารือเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก แต่ไทยควรใช้โอกาสไปแล้วอย่าเสียเที่ยว

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ วันที่ 12 - 13 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

 

โดยเห็นว่า การเดินทางครั้งนี้มีความสำคัญ แม้ว่าการหารืออาจจะไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะจะเน้นเรื่องของความมั่นคง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับชาติอาเซียน แต่ประเทศไทยเองควรใช้โอกาสในการเดินทางไปครั้งนี้ ฉายภาพของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้ชัดเจนกับนักธุรกิจ และนักลงทุนสหรัฐฯ ได้รับทราบโครงการนี้มากขึ้น เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตต่าง ๆ มาในเอเชีย

 

“ตอนนี้ยุทธศาสตร์ประเทศในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นหนึ่งเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นไทยควรใช้โอกาสในการเดินทางไปครั้งนี้ ดึงนักลงทุนจากสหรัฐฯ มาลงทุนในอีอีซีให้มากที่สุด ซึ่งนายกฯ ควรคิดถึงเรื่องนี้เป็นหลักไปคุยด้วย โดยนายกฯ จะเก่ง หรือไม่เก่ง คงต้องวัดกันตรงนี้ว่าจะมีช่องทางในการดึงดูดนักลงทุนเก่ง ๆ ของสหรัฐฯ มาที่ไทยได้ยังไงบ้าง” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

ขณะเดียวกันในแนวนโยบายของไทยที่ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ดังนั้นในการเดินทางไปครั้งนี้ของนายกฯ และคณะ ควรหยิบเอาเรื่องนี้ไปดึงดูดนักลงทุน หรือแสวงหาประโยชน์ในด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ เพราะถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างงานของประเทศไทยในอนาคต

 

สำหรับสาระสำคัญของการเดินทางไปประชุมครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ระบุไว้ว่า นายกรัฐมนตรี เตรียมนำเสนอการส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค next normal เน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

  • การส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค 
  • การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน
  • การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โมเดล รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาค

ก่อนหน้านี้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยการทาบทามของสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ 

 

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 และได้ยกระดับเป็นหุ้นส่วน เชิงยุทธศาสตร์เมื่อปี 2558 โดยทั้งสองฝ่ายดำเนินความร่วมมืออย่างครอบคลุมทั้ง 3 เสาของประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนการบูรณาการและการพัฒนา ในภูมิภาคให้ก้าวหน้า 

 

สำหรับ สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอันดับ 2 และเป็นแหล่งเงินทุนอันดับ 1 ของอาเซียน และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือ แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมเป็นเงินมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศใน ภูมิภาคแล้วกว่า 91 ล้านโดส 

 

โดยเชื่อมั่นว่าการเดินทางร่วมการประชุมของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคในยุคหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19