"วันแรงงานแห่งชาติ" 1 พฤษภาคม ของทุกปี มีที่มาอย่างไร

01 พ.ค. 2565 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2565 | 16:50 น.
524

"วันแรงงานแห่งชาติ" 1 พฤษภาคม ของทุกปี มีที่มาอย่างไร วันแรงงาน ปี 2565ตรงกับวันอาทิตย์ วันจันทร์ที่2 จะเป็นวันหยุดชดเชยอีกหนึ่งวันสำหรับผู้ใช้แรงงานหรือบริษัทเอกชนทั่วไป

 

 

หลายคนอาจยังไม่ทราบที่มาที่ไปของ"วันแรงงาน " ว่า มีความเป็นมาอย่างไรโดยเฉพาะคนทำงานผู้ใช้แรงงานรุ่นใหม่ในปี 2565 ครบกำหนดวันแรงงานแห่งชาติ วันที่1พฤษภาคม 2565ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่2 จะเป็นวันหยุดชดเชยอีกหนึ่งวันสำหรับผู้ใช้แรงงานหรือบริษัทเอกชนทั่วไป

 

ย้อนไปเมื่อ130ปีก่อน เมื่อโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรควบคู่กับแรงงานมนุษย์โดยไม่มีสวัสดิการหรือข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2432

 

 

 

 

 

แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงให้ทบทวนสิทธิของแรงงานด้านอื่นตามความเหมาะสม กลายเป็นการชุมนุมที่จัตุรัสเฮย์มาเก็ต

 

 

ก่อให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ระหว่างแรงงานและตำรวจส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ทั่วโลกยกย่องความกล้าหาญของการต่อรองครั้งนั้นระหว่างขบวนการแรงงานและรัฐ ด้วยการกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล หรือที่เรียกว่า เมย์เดย์ (May Day)

 

 

ทั้งนี้การปะทะกันระหว่างแรงงานกับรัฐ ในหลายประเทศ นั้นเป็นเพราะต้องการเจรจาต่อรองให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นธรรม รวมถึงจัดสวัสดิการที่เหมาะสมด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของแรงงานขณะทำงาน

 

ตัวอย่างประเทศที่หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อฉลองวันเมย์เดย์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีน เยอรมนี, เดนมาร์ก, บัลแกเรีย, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ, อินเดีย, ศรีลังกา, เวียดนาม, ลาว, ไทย เป็นต้น

 

ชาวยุโรปถือว่าวันเมย์เดย์ เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลเกษตรกรรม ทำพิธีบวงสรวงตามความเชื่อเพื่อขอให้ปลูกพืชผลได้มีผลผลิตที่ดี ส่วนประเทศไทยเราก็มีวันพืชมงคล เป็นวันฤกษ์ดีด้านการเพาะปลูกเกษตรกรรมเช่นกัน

ขณะวันแรงงานในประเทศไทยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และรัฐบาลได้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติในปี พ.ศ. 2499 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานในปี พ.ศ. 2500

 

 

จากปัญหาผู้ใช้แรงงาน ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งในด้านผลประโยชน์ค่าตอบแทน และสวัสดิการ  เป็นอย่างมาก เมื่ออุตสาหกรรมไทย เริ่มขยายตัวมากขึ้น พบว่า ผู้ใช้แรงงานต่างก็มีปัญหาเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว  อีกทั้งปัญหาแรงงานก็ยังมีความซับซ้อนยากที่จะแก้ไขไร้ซึ่งทิศทางกำกับดูแล เพราะในยุคก่อนไม่มีกฎหมายใดมาควบคุม ขณะการขยายตัวของธุรกิจเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากอิทธิพลของชาติตะวันตก

 

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุให้ ปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดีขึ้น ซึ่งในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499

 

คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุมขึ้น โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นับแต่นั้นมา วันที่ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็น วันกรรมกรแห่งชาติ จนต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ

 

 

ในเวลาต่อมาปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป

 

โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน

 

จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปีเพื่อเป็นการเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยในบางมีก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

 

 

กระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยได้มอบหมายให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี ภายในงานได้มีการจัดให้ทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแแสดงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

 

หน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

  •            การจัดหางาน ด้วยการช่วยเหลือคนว่างงานให้มีงานทำ ช่วยเหลือนายจ้างให้คนมีคุณภาพในการทำงาน รวบรวมเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการทำงาน แหล่งงาน ภาวะตลาดแรงงาน
  •      งานแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนและผู้ประสงค์จะทำงานเพื่อให้สามารถเลือกแนวทางประกอบอาชีพเหมาะตามความถนัด ความสามารถทางร่างกาย คุณสมบัติ บุคลิกภาพและความเหมาะสมแก่ความต้องการเศรษฐกิจ
  •        การพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแก่คนงานและเยาวชน ที่โอกาสศึกษาต่อ
  •           งานคุ้มครองแรงงาน วางหลักการและวิธีการเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน วันหยุดงาน ตลอดจนสวัสดิการต่าง ๆ
  •           งานแรงงานสัมพันธ์ ทำการส่งเสริมและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

 

ด้านกรรมกร ได้จัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานขึ้นหลายกลุ่ม และรวมกันตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้น ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิให้กับผู้ใช้แรงงานปัจจุบันมี 3 สภา ได้แก่

1.            สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย

2.            สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย

3.            สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย

สำหรับ "วันแรงงานแห่งชาติ" ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดทางราชการ ฉะนั้น หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น