"ธีระชัย จัดหนักบิ๊กตู่ ทำ "ไทย-จีน"ร้าว ชี้ ขาดทักษะการเมืองระหว่างประเทศ

29 เม.ย. 2565 | 16:52 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2565 | 00:43 น.

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง" อัด "ประยุทธ์" ขาดทักษะวางหมากรุกการเมืองระหว่างประเทศ ทำไทยกับจีนร้าว แนะต้องแสดงท่าทีเรื่องอินโด-แปซิฟิก หนุน IPEF พร้อมย้ำจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์จะใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala โดยระบุว่า

 

ไทยต้องแสดงท่าทีเรื่องอินโด-แปซิฟิก

 

สหรัฐมีแผนต่ออาเซียน

 

โจ ไบเดน เชิญผู้นำอาเซียนไปประชุม 12-13 พ.ค. และมีข่าวว่าพลเอกประยุทธ์จะไปร่วมด้วยตัวเอง แต่ในการประชุมแบบนี้ สหรัฐไม่ได้ต้องการคำชี้แนะอะไร เพราะโดยปกติจะเป็นผู้ชี้นำและกำหนดแนวทางให้อาเซียนเสียมากกว่า
เป้าหมายหลัก น่าจะอยู่ที่ผู้นำอินโดนีเซียและผู้นำไทย ในฐานะประธานที่ประชุม G20 และเอเปก ซึ่งทั้งสองกรณีจะจัดเดือน พ.ย. 2022

 

โดยผมคาดว่าสหรัฐจะต้องการบรรจุเรื่องเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิกเข้าในการประชุมทั้งสอง

 

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐนั้นมี 2 ด้าน 

 

  • ด้านความมั่นคง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรนาโต้-2 ขึ้นในเอเซีย 

 

  • ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนับวันจะมีพลังทำลายล้างมากกว่าด้านอาวุธ 

และข่าวที่แพลมออกมา สหรัฐจัดประชุมกับอาเซียนเพราะต้องการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ เรียกว่า Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) 
IPEF ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจนั้น ในเบื้องต้นประเทศต่างๆ จะไม่ดูน่ากังวล และคาดได้ว่า สหรัฐจะสามารถชักจูงให้ประเทศในอินโด-แปซิฟิกยอมรับการเข้าร่วม IPEF โดยประเทศในยุโรปที่อยู่นอกภูมิศาสตร์อินโด-แปซิฟิกได้ง่าย 

 

อันอาจจะแผนการของสหรัฐ เพื่อเอื้อต่อการปูพื้น จะชักนำให้ประเทศในยุโรปเข้าร่วมองค์กรนาโต้ 2 ด้านความมั่นคงได้ต่อไป

 

การเคลื่อนไหวของสหรัฐ ได้สร้างความกังวลให้แก่จีนอย่างมาก จีนมองว่าเป็นแผนทีละขั้น ที่สหรัฐจะยืมมือประเทศต่างๆ เพื่อตีกรอบล้อมจีน และการที่ประเทศไทยเป็นผู้บุกเบิกไปทำแถลงการณ์กระทรวงกลาโหมร่วมกับสหรัฐในปี 2562 ก็ทำให้จีนมองไทยในทางร้ายมากขึ้น

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

ถึงแม้แถลงการณ์กระทรวงกลาโหมดังกล่าวระบุว่า เพื่อให้สหรัฐและไทยเป็นพันธมิตรกันด้านป้องกันประเทศ แต่แทนที่จะจำกัดวงแคบเฉพาะหัวข้อความร่วมมือระหว่างกลาโหมสองประเทศ กลับตีกว้าง

 

(ก) กลับมีคำกล่าวที่ขยายพื้นที่ นอกเหนือจากไทย-สหรัฐ โดยระบุไปครอบคลุมถึงอินโด-แปซิฟิก 

 

(ข) กลับมีการย้ำสถานะไทยในฐานะ major non-NATO ally ทั้งที่นาโต้ไม่ใช่ภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไทย 

 

(ค) กลับกล่าวถึงบริบทของอาเซียนในการบังคับให้มีการเคารพกติการะหว่างประเทศ อันจะเป็นการดึงอาเซียนเข้าไปทำหน้าที่ตำรวจโลก 

การแสดงท่าทีของไทยดังกล่าว ได้สร้างข้อกังวลต่อจีนอย่างมาก ดังเห็นได้จากรัฐมนตรีต่างประเทศจีนออกมาประกาศจะขัดขวางการจัดตั้งองค์กรนาโต้-2 ขึ้นในอินโด-แปซิฟิก 

 

และทำให้ไทยตกเป็นหนังหน้าไฟให้แก่สหรัฐในความขัดแย้งกับจีน ทั้งที่ไทยได้รักษาสัมพันธภาพระหว่างสองประเทศได้อย่างสมดุลมาตลอดหลายสิบปี

 

นอกจากนี้ ในรูปจะเห็นได้ว่าพลเอกประยุทธ์ลงนามในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งผิดหลักด้านการฑูตอย่างชัดเจน เพราะพลเอกประยุทธ์ไปลดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ลดตัวลงไปเซ็นคู่กับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เรียกได้ว่า ตีค่าตำแหน่งของผู้นำไทยลดต่ำลงไปโดยไม่สมควร

 

อีกทั้งการลงนามในแถลงการณ์ที่ครอบคลุมหัวข้อเรื่องแบบกว้างขวาง เกินเลยออกนอกขอบเขตของกระทรวงกลาโหมของสองประเทศ ก็เป็นการแสดงท่าทีว่า ไทยในระดับประเทศได้เห็นชอบและเป็นหัวหอกในเรื่องอินโด-แปซิฟิกตีคู่กับสหรัฐ

 

การดำเนินการเช่นนั้น นอกจากไปสร้างปัญหาต่อภาพพจน์ของไทยในสายตาของเพื่อนบ้านเช่นจีนแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงการขาดทักษะในการวางหมากรุกการเมืองระหว่างประเทศ ที่ยอมตนไปตกเป็นลูกไล่ของประเทศมหาอำนาจโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศชาติ

 

การรักษาดุลระหว่างมหาอำนาจ

 

พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จต่างประเทศอย่างเป็นทางการที่สร้างชื่อเสียงลือลั่นไปทั่วโลก คือรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปและสามารถใช้ความสัมพันธ์กับรัสเซีย พาไทยรอดพ้นจากเงื้อมมือของมหาอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศสได้ 

 

และต่อมาพระองค์ที่สองคือรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสสหรัฐ ทรงกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาอย่างสง่างาม และมีภาพเสด็จบนรถยนต์เปิดประทุนบนถนนในมหานครนิวยอร์คที่โปรยปรายลูกกระดาษ ticker tape อันเป็นการต้อนรับระดับยิ่งใหญ่ที่สหรัฐจัดให้น้อยครั้ง

 

แต่ถึงกระนั้น รัชกาลที่ 9 ก็ทรงสร้างดุลความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน 
ในช่วงที่ทำงานแบงค์ชาติ ผมได้ไปร่วมคณะยืนต้อนรับประธานาธิบดีจางเจียหมิง ที่เดินทางมาประชุมในไทย และรัฐบาลไทยเชิญให้ไปชมพระราชพิธีแห่เรือในวันซ้อมใหญ่ ที่เรือนไม้ในแบงค์ชาติ 
สองสามนาทีก่อนหน้าขบวนรถของจีนจะไปถึง สมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จไปถึงก่อน 

 

ท่านทรงวางพระองค์เหมือนเด็กไปเพื่อต้อนรับผู้ใหญ่ ท่านทรงโบกพระหัตถ์ให้พนักงานถือร่มส่วนพระองค์ถอยออกไป และทรงยืนกลางแดดจนรถของจางเจียหมิงเข้ามาเทียบ เน้นให้จางเจียหมิงเป็นผู้ที่เดินบนพรมแดงแทนพระองค์ท่าน

 

ขณะที่ทรงพระราชดำเนินนำจางเจียหมิงเข้าไปในเรือนไม้ เจ้าหน้าที่จีนก็พรั่งพรูเพื่อจะทำหน้าที่ด้านต่างๆ 

 

แต่ภายหลังจากการชมขบวนเรือ จางเจียหมิงก็กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ ให้ประทับรถไปด้วยกัน แสดงว่าจางเจียหมิงไม่ได้สนใจคำบรรยายของเจ้าหน้าที่จีน มากเท่ากับการรับฟังภาษาจีนจากสมเด็จพระเทพฯ 

 

น่าเสียดายว่า ศาสตร์ของพระราชาที่สะสมมานานหลายสิบปีด้วยพระเนตรที่ยาวไกล ต้องมาสะดุดด้วยนโยบายเลือกข้างของพลเอกประยุทธ์ในปี 2562

 

ท่าทีของไทย

 

ในฐานะที่พลเอกประยุทธ์จะทำหน้าที่ประธานเอเปก ถ้าสหรัฐมีการเสนอ IPEF ต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนในวันที่ 12-13 พ.ค. ไม่ว่าพลเอกประยุทธ์จะไปร่วมประชุมเอง หรือจะส่งรองนายกฯ ไปแทน ท่านควรจะให้มีการแถลงข่าวแสดงท่าทีของไทยต่อการประชุม เพื่อจะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศต่างๆ และจะช่วยฟื้นฟูสัมพันธภาพไทย-จีน 

 

กรณีที่ท่านไปร่วมประชุมเอง ก็ควรแถลงข่าวที่สหรัฐหลังการประชุม กรณีที่ท่านส่งตัวแทน ก็ควรแถลงข่าวที่กรุงเทพเมื่อตัวแทนกลับมารายงานการประชุมให้ท่านได้รับทราบ โดยท่าทีที่แถลง ควรจะครอบคลุมประเด็นอย่างน้อยดังต่อไปนี้

 

หนึ่ง Inclusiveness

ควรแถลงข่าวว่า ไทยมีความยินดีต่อแนวคิด IPEF แต่เห็นว่าควรเปิดกว้าง โดยไม่ตัดประเทศใดในอินโด-แปซิฟิกออกไปจากข้อตกลงนี้ และต้องไม่ใช้ IPEF เป็นการตั้งป้อมตีกรอบเพื่อกีดกันประเทศใดเป็นการเฉพาะ

 

สอง Permanency

ไทยควรเรียกร้องให้ IPEF มีการรับรองในระดับรัฐสภาของสหรัฐ ซึ่งจะมีความถาวรมากกว่าการจัดทำเป็นข้อตกลงโดยอาศัยเพียงคำสั่งของประธานาธิบดี (Executive Order) เพราะในอนาคต ประธานาธิบดีคนใดที่ไม่เห็นด้วย ก็จะสามารถออก Executive Order ยกเลิกเปลี่ยนแปลงได้ทันที

 

สาม Weapons of war

ไทยควรแถลงข่าวสนับสนุนให้ IPEF เป็นข้อตกลงที่ช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนในอินโด-แปซิฟิก เปิดเวทีที่สมาชิกจะแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานต่างๆ ตลอดจนช่วยหาทางแก้ปัญหาในการเปิดตลาดให้แก่กันและกัน 
แต่ไทยควรจะย้ำว่า IPEF จะต้องไม่มีวัตถุประสงค์จะใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ

 

สี่ World Fragmentation
ไทยควรแถลงข่าว แสดงความกังวลต่อมาตรการแซงชั่นชุดใหญ่ที่ตะวันตกนำมาใช้ในกรณีสงครามยูเครน เพราะกำลังจะกระทบต่อโลก ทั้งในด้านอัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และการขาดแคลนปุ๋ย ซึ่งทุกประเทศควรร่วมมือกันหาทางผ่อนปัญหาและความรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ แซงชั่นชุดใหญ่ดังกล่าว จะทำให้การค้าโลกจะแยกเป็นสองฝ่ายอย่างไม่มีวันหวนกลับ ทั้งในด้านการชำระเงิน ด้านการใช้สกุลเงิน ด้านการลงทุนเงินสำรองระหว่างประเทศ ตลอดจนด้านการใช้ระบบเงินคริปโท 

 

ไทยจึงขอย้ำให้ IPEF จะต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงนี้ และเนื้อหาในข้อตกลง จะต้องไม่มีข้อกีดกันการพัฒนาระบบการเงินทางเลือกที่จะแยกแต่เป็นคู่ขนานไปกับสกุลดอลลาร์และยูโร
ห้า Tax Fairness

 

ไทยมีความเห็นว่า IPEF ย่อมจะต้องมีข้อกำหนดที่ครอบคลุมเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ปัญหาหนึ่งของเศรษฐกิจนี้ คือบริษัทข้ามชาติที่เป็นเจ้าของแอปโซเชียลมีเดีย มีการขายโฆษณาที่ใช้ฐานผู้บริโภคโซเชียลมีเดียในอินโด-แปซิฟิก แต่มีการบันทึกรายได้ดังกล่าวนอกประเทศ ทำให้ประเทศเจ้าของฐานผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์ทางภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

 

ไทยจึงขอสนับสนุนให้ IPEF มีข้อแก้ไขให้บริษัทข้ามชาติที่เป็นเจ้าของแอปโซเชียลมีเดียต้องมีการเสียภาษีให้แก่ประเทศต่างๆ อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นธรรม

 

รวมทั้ง IPEF ไม่ควรไปปิดกั้นพัฒนาการและนวตกรรมในเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ควรปล่อยให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเสรีโดยจัดให้มีกติกาที่ป้องกันการฟอกเงินที่รัดกุมตามความต้องการของแต่ละประเทศ