"ปตท.สผ." กำไรกว่า 1 หมื่นล้านไตรมาส 1/65

28 เม.ย. 2565 | 14:54 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 21:55 น.
1.5 k

ปตท.สผ. กำไรกว่า 1 หมื่นล้านไตรมาส 1/65 รายได้รวม 6.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. มีรายได้รวม 2,083 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) หรือประมาณ 68,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งมีรายได้ 1,989 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ 66,222  ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์ในไตรมาสนี้ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 427,368 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เทียบกับ 420,965 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันใน   ไตรมาส 4 ของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณการผลิตและขายก๊าซขั้นต่ำของโครงการอาทิตย์  

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1 นี้ บริษัทมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) โดยมีผลขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน จำนวน 240 ล้านดอลลาร์ สรอ.

 

จากผลประกอบการดังกล่าว ส่งผลให้ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ที่ 318 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ 10,519 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกำไรสุทธิที่ 321 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ 10,646 ล้านบาท 

 

ปตท.สผ.กำไรกว่า 1 หมื่นล้านไตรมาส 1/65

 

สำหรับต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ในไตรมาสที่ 1 นี้ อยู่ที่ 26.54 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ 78% ซึ่งเป็นไปตามที่เป้าหมายที่วางไว้

นายมนตรี กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนการดำเนินงานหลักของปีนี้ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในโครงการจี 1/61 หลังจากบริษัทเข้าเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 โดยจะเร่งแผนงานการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชนและประเทศ 

 

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสทางการลงทุนในธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยขณะนี้ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทำการศึกษาเกี่ยวกับการผลิตกรีนอีเมทานอลซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS)

 

ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเป็นอีกหนึ่งแนวทาง ในการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. ที่จะสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

 

ล่าสุด ปตท.สผ. ได้ร่วมมือกับ บริษัท อินเป็กซ์ คอร์ปอเรชั่น และเจจีซี โฮลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ในประเทศไทย ซึ่งจะครอบคลุมถึงขั้นตอน เทคโนโลยี และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรม 

 

รวมถึง ได้ลงนามความร่วมมือกับ 5 บริษัทนานาชาติชั้นนำด้านพลังงานและโลจิสติกส์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง โรงงานผลิตกรีนอีเมทานอล (Green e-methanol) เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่ได้จากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ชีวภาพ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีที่จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU)


อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน รวมทั้ง สนับสนุนเป้าหมายของประเทศเกี่ยวกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน 

 

ปตท.สผ. ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ซึ่งจะดำเนินงานผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050  เพื่อสร้างคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสีย และการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

 

การดำเนินงานตามแนวคิด EP Net Zero 2050 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว จะครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) 

 

โดยได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดปริมาณความเข้ม (Intensity) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2573 และ 50% ภายในปี 2583 (จากปีฐาน 2563) เพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2593