ระวัง! ลงทุน ESG อย่าสร้าง “Green wash” หลอกลวงว่ารักษ์โลก

27 เม.ย. 2565 | 19:47 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 02:56 น.

กสิกรไทย แนะนักลงทุนระมัดระวังการลงทุนด้าน ESG ที่สำคัญต้องมีธรรมาภบาล เพื่อนำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงนโยบายที่ดี มีประสิทธิภาพ ไม่สร้าง “Green wash” ภาพลักษณ์หลอกลวงให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดว่า เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

นางธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์การกองทุน กสิกรไทย จำกัด ได้เปิดเผยมุมมอง การลงทุนด้าน ESG ในงาน เสวนา SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต “เดินหน้าอย่างไร ในวันที่ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ - Sustainable Driver For Meaningful Growth” โดยพูดถึง ปัจจุบันความสนใจเรื่องการลงทุนที่เน้นเรื่อง ESG ขยายขอบข่ายมากขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่ตัวเองได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวังสำหรับการลงทุนด้าน ESG คือ การสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดว่า เรามีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า “Green wash” ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ และดูว่าบริษัททำตามนโยบายไหม 

ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์การกองทุน กสิกรไทย จำกัด

รายงาน Global Sustainable Review ปี 2563 พบว่าแนวโน้มลงทุนโดยใช้หลักการ ESG ใน 5 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเติบโตกว่า 50% ขณะที่ทุกภูมิภาคมีเม็ดเงินลงทุนอย่างชัดเจน และเติบโตอย่างก้าวกระโดด 1 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทั่วโลกเป็นการลงทุนแบบ ESG ขณะสัดส่วนการลงทุนใน ESG ในประเทศไทยยังน้อยมาก มีแค่ 3.4% หรือ 6 หมื่นกว่าล้านบาทของมูลค่าการลงทุนกองทุนรวมหุ้นในประเทศทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท 
 

ส่วนในยุโรป ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มาตั้งแต่แรก กลับมีการเติบโตด้านการลงทุน ESG ลดลง ทั้งนี้เนื่องจาก หน่วยงานผู้กำกับดูแล ได้ออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น สำหรับการตรวจสอบบริษัทต่างๆ  ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าตัวเองมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล แต่ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นตามนั้น ที่ผ่านมา จึงมีการคัดบริษัทที่ เป็น“Green wash” ออกไป ดังนั้น นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ และติดตามว่าบริษัททำตามนโยบายหรือไม่ และมีการวัดผลอย่างไร

 

ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Emerging Market อย่างประเทศไทย ประเด็นธรรมมาภิบาลนั้นก็สำคัญ เพราะถ้าบริษัทมีธรรมาภิบาลที่ดี ก็สามารถให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงนโยบายที่ดีและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลด้านธรรมาภิบาลของไทยมีมาก และเข้าถึงได้ง่ายกว่าด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยังค่อนข้างจำกัด 

ที่ผ่านมา การลงทุนด้าน ESG ยังค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เราควรสร้างความตระหนักแก่นักลงทุนทั่วไป ในแง่ของการให้ความสำคัญของการนำปัจจัย ESG มาพิจารณาร่วมด้วยในการตัดสินใจลงทุน หน้าที่ของผู้จัดการลงทุนคือการสร้างสมดุลระหว่างการสร้างผลตอบแทนและประเด็นด้าน ESG ในฐานะนักลงทุนสถาบัน เชื่อว่าการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึง ESG จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนได้ ช่วยลดความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกและภายในตัวธุรกิจเอง และช่วยแยกแยะและเพิ่มโอกาสการลงทุน

 

ขณะที่บริษัทจดทะเบียน ต้องเห็นความสำคัญของการทำ ESG ด้วย ปัจจุบันพบว่าการปฏิบัติตามหลัก ESG ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็กแม้มีความเข้าใจและต้องการดำเนินการ ก็ยังติดเรื่องทรัพยากร จึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ภาพรวมกองทุน Passive Investment พบว่าทั่วโลกมีการเติบโตตามเทรนด์ ESG อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป ขณะที่ กลยุทธ์การลงทุน ESG แบบ Active Investment ก่อนหน้านี้ ทั่วโลกใช้ Negative Screening โดยวิธีคัดบริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณาตามหลัก ESG ออกจากรายชื่อที่สามารถลงทุนได้ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ ESG Integration แทน เป็นการรวมกลยุทธ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้มากขึ้น

 

การประเมิน ESG ของ KAsset จะให้น้ำหนักในแต่ละปัจจัยไม่เท่ากัน เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนในแต่ละอุตสาหกรรม จะมีผลกระทบในด้าน ESG ที่แตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มพลังงานจะมีผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่กลุ่มธนาคารอาจต้องให้ความสำคัญในด้านสังคมมากกว่าธุรกิจอื่น