ธ.กรุงศรี ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ ESG 1 แสนล้าน ภายในปี 2030

17 มี.ค. 2565 | 17:46 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2565 | 00:57 น.

ธ.กรุงศรี ตั้งเป้า ปล่อยสินเชื่อหนุนธุรกิจ ESG 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2030 ชี้ ESG คือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก แนะภาคธุรกิจเร่งปรับตัวและควรเริ่มทำ

นายประกอบ เพียรเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา GO GREEN 2022 ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว ในหัวข้อ Driving Green Business ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการออกตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยไทยอยู่ในอันดับกลางๆ ของโลก แต่อยู่ในอันดับต้นๆ ของอาเซียน ซึ่งในปี 2564 ไทยมีการทำ Green Bond , Social Bond , Sustainability Bond และ Sustainability-Linked Bond รวมกว่า 1.7 แสนล้านบาท

 

“ธ.กรุงศรีตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวกับ ESG ให้ได้ 50,000-100,000 ล้านบาทภายในปี 2030 และสิ่งสำคัญคือการให้องค์ความรู้ หรือแชร์ประสบการณ์จากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีการทำเรื่อง ESG จำนวนมาก และมองว่าลูกค้าทุกธุรกิจสามารถทำได้ และควรเริ่มทำ” นายประกอบ กล่าว

นายประกอบ เพียรเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และวาณิชธนกิจ ธ.กรุงศรีอยุธยา

นายประกอบ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ของไทยมีการทำเรื่องของ ESG จำนวนมาก เช่น กระทรวงการคลัง ได้มีการออกพันธบัตร โดยธนาคารกรุงศรีได้เข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งปัจจุบันมี outstanding อยู่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ได้มีการออกพันธบัตรอายุ 15 ปี และมี benchmark เพื่อนำใช้ในเรื่องของ Sustainability ทั้ง Green Bond และ Social Bond

 

ขณะที่ กลต. ได้มีการออกเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ หรือ Sustainability-Linked Bond เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อผลักดันการปล่อยสินเชื่อหรือการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

 

ธ.กรุงศรี ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ ESG 1 แสนล้าน ภายในปี 2030

พร้อมยกตัวอย่าง บริษัทในไทย ที่มีการออก Green Bond เช่น GPSC , โตโยต้าลีสซิ่ง , SCG , ราชกรุ๊ป และ ปตท. ขณะที่หน่วยงานที่มีการออก Sustainability Bond เช่น ก.คลัง และ BEM ทั้งนี้ ธ.กรุงศรี ได้มีการทำ Social Bond หรือ Gender bond เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับองค์กรหรือธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ

 

ขณะที่ Sustainability-Linked Bond หรือ การระดมทุนแบบทั่วไป จะมีการใช้เกณฑ์วัด หรือ KPI ที่บริษัทที่เข้ามาระดมทุนต้องทำตาม ผ่าน 3 ตัว คือ H – I – S ซึ่ง H คือ Historical Performance หรือการประเมินสิ่งที่ได้ทำมาแล้วในช่วง 3 ปี และจะต้องทำต่อให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต โดยใช้ตัว I หรือ Industry’s peers คือ การเปรียบเทียบในระดับอุตสาหกรรม และ S หรือ Science-based หรือ การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากทำตามเกณฑ์ก็จะได้รับการลดดอกเบี้ย หรือหากทำไม่ได้ก็จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย    

 

“อยากให้ฝั่งของลูกค้าเข้าใจว่า ทำไมถึงต้องทำ และควรเริ่มทำ ไม่ใช่มองว่าทำเพื่อให้ดอกเบี้ยลดลง เพราะการทำ ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด หากใครไม่เริ่มทำอาจเกิดปัญหากับธุรกิจในอนาคต ที่อาจมีเรื่องของการกีดกันทางการค้าเกิดขึ้น หากใครคิดว่าถ้ารัฐบาลหรือสถาบันการเงินไม่สนับสนุน ก็จะไม่ทำ ถือว่าเป็นความคิดที่อัตรายมาก” นายประกอบ กล่าว