ชาวระนองยังชั่งใจท่าเรือแลนด์บริดจ์ที่"อ่าวอ่าง"ขอฟังข้อมูลเพิ่ม

27 เม.ย. 2565 | 16:45 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 23:56 น.
2.6 k

     คมนาคมเคาะเลือก"อ่าวอ่าง" ระนอง ที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกใหม่แลนด์บริดจ์ เชื่อม แหลมลิ่ว จ.ชุมพร เตรียมคุยกระทรวงทรัพย์ฯ หาทางออกท่าเรืออยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ชาวระนองยังเสียงแตก "หนุน-ค้าน" ขอผลศึกษาในรายละเอียดทุกแง่มุมที่ลึกกว่านี้ก่อนตัดสินใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลือก“อ่าวอ่าง”ระนอง เป็นที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกใหม่ แนวแลนด์บริดส์เชื่อมชุมพร ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์)  ครั้งที่ 2/2565 เมื่อ 22  เม.ย. 2565 ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) 

 

โดยระบุว่า ที่ปรึกษาได้นำเสนอการคัดเลือกพื้นที่ทางเลือกท่าเรือที่เหมาะสมที่สุด ฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือ พื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว 

ชาวระนองยังชั่งใจท่าเรือแลนด์บริดจ์ที่\"อ่าวอ่าง\"ขอฟังข้อมูลเพิ่ม

ชาวระนองยังชั่งใจท่าเรือแลนด์บริดจ์ที่\"อ่าวอ่าง\"ขอฟังข้อมูลเพิ่ม

เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้า ที่จะเข้ามาที่ยังแลนด์บริดจ์ รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือในอนาคต ให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ อีกทั้งตำแหน่งท่าเรือยังสอดคล้องกับผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง MR8 ชุมพร – ระนอง 

 

โดยผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ 4 แสนล้านบาท เพื่อให้รองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ซึ่งหลังจากนี้ที่ประชุมได้เร่งรัดเสนอคณะทำงานบูรณาการ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน กับแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เพื่อพิจารณาในประเด็นผลกระทบกับพื้นที่มรดกโลกและพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไป

ชาวระนองยังชั่งใจท่าเรือแลนด์บริดจ์ที่\"อ่าวอ่าง\"ขอฟังข้อมูลเพิ่ม

ชาวระนองยังชั่งใจท่าเรือแลนด์บริดจ์ที่\"อ่าวอ่าง\"ขอฟังข้อมูลเพิ่ม

รวมทั้งให้ สนข. และที่ปรึกษาศึกษาปริมาณสินค้า และแผนทางการพัฒนาความสามารถในการรองรับสินค้า ของโครงการแลนด์บริดจ์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โครงการมีความน่าสนใจ และสามารถแข่งขันกับโครงการการพัฒนาท่าเรือในประเทศต่าง ๆ เช่น โครงการ East Coast Rail Link (ECRL) และโครงการมะละกาเกตเวย์ ในประเทศมาเลเซีย และโครงการดาราสาคร ในประเทศกัมพูชา 

 

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า และอุตสาหกรรมครบวงจร ได้แก่ เขตส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น การธนาคาร การประกันภัย เป็นต้น เขตส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิตัล เขตอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม และเขตส่งเสริมการลงทุนปลอดภาษี 

ชาวระนองยังชั่งใจท่าเรือแลนด์บริดจ์ที่\"อ่าวอ่าง\"ขอฟังข้อมูลเพิ่ม

ให้พิจารณาข้อกฎหมายที่สนับสนุนการดำเนินโครงการ เช่น การตรา พ.ร.บ. ฉบับใหม่ สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดยการขยายพื้นที่โครงการ และพิจารณาข้อจำกัดและแนวทางการดำเนินการ ของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 สำหรับกรณีโครงการที่มีเจ้าของโครงการหลายหน่วยงาน เป็นต้น 

 

และได้เร่งรัดให้ สนข. จัดเตรียมข้อมูลรายละเอียด เพื่อนำเสนอ Thai Landbridge Model ในเวทีการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (APEC Transportation Working Group : TPTWG 52) พร้อมเตรียมโรดโชว์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ทั้งในระดับพื้นที่โครงการ และการประชาสัมพันธ์ไปสู่นักลงทุนต่างประเทศในช่องทางต่าง ๆ 

 

ด้านเอกชนและชาวบ้านในจังหวัดระนองยืนยัน ยังกังขาการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ที่ยังไม่มีรายละเอียดเรื่องผลกระทบ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม หวั่นกระทบพื้นที่มรดกโลก  พื้นที่ชีวมณฑลโลก และวิถีชาวบ้าน   โดยระบุว่า ยังไม่คัดค้าน แต่ขอรอผลการศึกษาก่อนตัดใจ ว่าจะสนับสนุนหรือไม่ ต่อจุดที่ตั้งท่าเรือใหม่ด้านฝั่งระนอง รับ Landbridge เชื่อมโยงอ่าวไทย-อันดามัน   

 

นายมนัส สุขวาณิชวิชัย ที่ปรึกษาหอการค้า  ในส่วนของหอการค้าและภาคเอกชนจังหวัดระนอง ได้สนับสนุนการขับเคลื่อน และผลักดันเรื่องการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งระนอง-ชุมพร รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือระนอง  เพื่อรองรับการขยายการค้าในฝั่งอันดามัน  ซึ่งจะทำให้ระนองเข้าสู่ยุคเมืองท่าการค้าที่สำคัญ ในภูมิภาคฝั่งทะเลตะวันตก  

 

ขณะที่นายปรีชา  หัสจักร  ประธานกลุ่มท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชนม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง  เคยกล่าว ขณะร่วมประชุมโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน “SEC แลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ใครได้ใครเสีย” เมื่อวันที่ 5  มีนาคม 2565ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ว่า จังหวัดระนอง ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย และพื้นที่ใกล้เคียง ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องจุดที่ตั้ง  รวมทั้งทางออก ส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ และผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น จากโครงการ Landbridge เชื่อมโยงอ่าวไทย-อันดามัน  

 

ดังนั้นถึงตอนนี้ยังไม่มีใครตอบยืนยันได้ ว่าสนับสนุนหรือไม่ เพราะต้องการให้มีการศึกษาที่ลึก และมีรายละเอียดมากกว่านี้ในทุก ๆ ด้าน