“MILLI” ปลุกความหวังชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ ฟื้นคืนชีพ

18 เม.ย. 2565 | 19:04 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2565 | 02:10 น.
2.3 k

“มนตรี” อดีตนายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ส่องอนาคต “มะม่วงน้ำดอกไม้" หลัง “MILLI” โชว์กินข้าวเหนียวมะม่วง บนเวที Coachella 2022 คาดส่งออกคืนชีพ ขณะในประเทศ ผวาทุเรียน ออก คนเห่อ แย่งตลาด มะม่วงขายยากขึ้น ด้านนายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผัก ผลไม้ไทย ตอบสั้นๆ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

สืบเนื่อจากกรณี แรปเปอร์สาวไทย “มิลลิ”  ดนุภา คณาธีรกุล ศิลปินเดี่ยวชาวไทยคนแรกได้ขึ้นเวทีคอนเสิร์ต ในงานเทศกาลดนตรี  Coachella 2022  จัดขึ้นที่เอ็มไพร์โปโลคลับ (Empire Polo Club) ในเมืองอินดิโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา   ได้ขึ้นเวทีเป็นลำดับที่ 2 ที่สำคัญ โชว์กิน ข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที  Coachella 2022   จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ #MILLILiveatCoachella นั้น

 

มนตรี ศรีนิล

 

นายมนตรี ศรีนิล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งออกมะม่วง ต.โป่งตาลอง จังหวัดนครราชสีมา  และอดีตนายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  มองว่าน่าจะเป็นผลทางบวก ถ้าชาวต่างชาติเป็นที่รู้จัก ต้องเป็นรสชาติที่แก่หวานและดีพอที่จะไปโชว์ทำให้ลูกค้าติดใจ แต่ปัญหาที่เผชิญอยู่ตอนนี้เป็นปัญหาการส่งออก โดยเฉพาะการขนส่งอาจจะทำให้ตัวเลขการส่งออกไม่เดินหน้าเท่าที่ควรจะเป็น

 

ส่วนมะม่วงที่รับประทานกับข้าวเหนียวนั้น ควรจะเป็นพันธุ์น้ำดอกไม้ ที่เหมาะสมที่สุด ควรจะเลือกรับประทานแบบแก่ ความหวานต้องได้  17-18 บริกซ์ ถึงจะมีความอร่อย และติดใจ เพราะข้าวเหนียว จะมีความมัน ความเค็มอยู่ในตัว บวกกับความหวานอยู่นิดๆ ส่วนมะม่วงจะมีความหวาน และเนื้อนุ่ม เมื่อทั้งสองอย่างตักมารวมกันอยู่ในช้อนพอดีคำแล้วตักเข้าปากจะรสชาติมะม่วงกับข้าวเหนียวจะผสมกันทำให้เกิดความอร่อยกล่อมกล่อม

 

 

ตอนนี้ “มะม่วงน้ำดอกไม้”  ราคาส่งส่งออก-ในประเทศ ราคาตกต่ำ เป็นประวัติการณ์ โดยแบ่งเป็นราคาหน้าสวนส่งออก กิโลกรัมละ 30-35 บาท โดยปกติที่ชาวสวนขายได้ในฤดูต้องอยู่ได้ราคาอย่างน้อยต้องขายได้ กิโลกรัมละ 50 บาท เป็นสถานการณ์ล่อแหลมว่าจะอยู่รอดหรือไม่รอด บวกกับภายในประเทศภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองถดถอย การจับจ่ายน้อยลง ส่งผลทำให้ราคาในประเทศที่ชาวสวนขายได้ ไม่ถึง 20 บาท/กิโลกรัม แล้วขายของได้น้อยมาก

 

“MILLI”  ปลุกความหวังชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ ฟื้นคืนชีพ

 

นายมนตรี กล่าวว่า ช่วงนี้ผลไม้มะม่วงทุกชนิด จะมีผลผลิตออกมามาก ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะเป็นช่วง 3 เดือนนี้ ทุกปี สูงสุด น้ำดอกไม้ รองลงมา มหาชนก และโชคอนันต์ และเขียวเสวย ตามลำดับ โดยทุกปี จะพอไปได้ โดยเฉพาะก่อนหน้าที่จะมีไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ดีตลอด พอโควิด-19 เจอปีแรก เกษตรกรปรับตัวไม่ทัน แต่ถ้าสามารถขายส่งทันออนไลน์ก็พอเอาตัวรอดได้ ปีที่2 ก็พออยู่ได้ แต่พอมาปีที่3 ปีนี้หนักสุดเลย

 

“เนื่องจาก  2 ปีแรกถึงแม้จะมีโรคระบาด แต่การส่งออกยังส่งออกได้ ยอดการจองสั่งซื้อมากกว่า รวมทั้งภายในประเทศมีการบริโภคมากกว่า อย่าน้อยประเทศเพื่อนบ้านทางภาคใต้ โดยเฉพาะมาเลเซีย –เวียดนาม และจีน ช่วยกระจายสินค้าลงไปเป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้แทบจะไม่สั่งเลย โดยเฉพาะมาเลเซีย ปิดด่านเลย ทั้งสถานการณ์โควิดด้วย และปัจจัยอีกหลายอย่างที่เป็นปัญหาส่งผลทำให้มะม่วงที่มีในประเทศหาที่ระบายได้ยากราคาจึงได้ตกต่ำมากๆ แล้วถ้าทุเรียนทะลักออกมา จะกลายเป็นศึกชิงตลาดแย่งลูกค้ากันเอง เพราะทุเรียนออกคนจะเห่อไปทานทุเรียนกันจะลืมมะม่วงไปพักหนึ่งจะทำให้มะม่วงขายยากไปอีก"

 

 

“เป็นกำไรของผู้บริโภค แต่ชาวสวนไม่รอดเพราะขาดทุน หนักหนาสาหัสกันเลย จะทำอย่างไรกัน บวกกับฤดูกาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ที่ปรับราคาขึ้นมา จะทำอย่างไรเพื่อที่จะอยู่รอดกันได้ ซึ่งถ้าสวนไหนมีความรู้ มีฝีมือ จะมีมะม่วงน้ำดอกไม้นอกฤดู ซึ่งราคาจะสูง อยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ ผลผลิตจะออกตั้งแต่สิงหาคม เป็นต้นไป แต่จะบวกกับต้นทุนที่สูงขึ้น ต้องมาพิจารณาว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าติดผลน้อยก็อยู่ลำบาก แต่ถ้าติดผลมากก็พออยู่ได้ โดยเฉพาะสภาพอากาศปีนี้ทำให้ผลผลิตออกมามาก มีฝนเป็นระยะๆ ไม่ร้อนมากเกินไป แต่ว่าราคาจะไม่เอื้อให้กับชาวสวน

 

“แต่ถ้าไปโชว์รับประทานข้าวเหนียวมะม่วงต่างประเทศ น่าจะเป็นผลดีในอนาคต แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับราคาในประเทศให้ราคาขยับสูงคงจะทรงตัว เพราะสังเกตปีนี้ว่าการจับจ่ายใช้เงินของผู้บริโภคค่อนข้างน้อยกว่าทุกปี หรือว่าซื้อน้อยลง โดยปกติในย่านนี้อยู่บริเวณเขาใหญ่ เศรษฐกิจดี ลูกค้าจะมาซื้อทุกปี แต่ปีนี้ซบเซาทุกร้านเลย นึกภาพที่นี่จะเป็นอย่างนี้ ที่อื่นอาจจะย่ำแย่หนักหนากว่านี้”

 

พจน์ เทียมตะวัน

 

ขณะที่นายพจน์ เทียมตะวัน นายกสมาคมผู้ประกอบการพืช ผัก ผลไม้ไทย กล่าวสั้นๆ ว่าไม่ได้ช่วยอะไรเลย