สถิติผู้สูงวัย 44% โดนตุ๋นผ่านเฟซบุ๊ก เตือนภัยออนไลน์สินค้าอะไรต้องระวัง

10 เม.ย. 2565 | 09:37 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2565 | 16:45 น.
2.2 k

น่าตกใจคนสูงวัยเจอภัยหลอกลวงออนไลน์หนักขึ้นเรื่อย ๆ พบสถิติ ช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก มากถึง 44% โดยปัญหาซื้อขายออนไลน์เป็นปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนสูงสุด ส่วนสินค้าอะไรบ้างที่ต้องระวัง ไปดูรายละเอียดกัน

สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีสัมมนาออนไลน์ เรื่อง สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์ ให้ข้อมูลผู้สูงอายุ รวมไปถึงครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ให้รู้เท่าทันโลกออนไลน์ เพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่าง ๆ พบช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก มากถึง 44%

 

น.ส.จารุวรรณ ศรีภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก โดยมีการท่องโลกออนไลน์เพื่อหาข้อมูลข่าวสาร พบปะเพื่อนฝูง และซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ 

 

โดยช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด ดังนี้

  • เฟซบุ๊ก (Facebook) 44% 
  • ไลน์ (Line) 31.25% 
  • อินสตาแกรม (Instagram) 5.25%

 

สำหรับข้อมูลที่ออกมาทำให้เห็นว่า ผู้สูงอายุในไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้นด้วยนั่นเอง

 

ดังนั้น จึงมองว่า ครอบครัวมีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการให้ข้อมูลความรู้ และให้คำปรึกษาได้ เช่น แนะนำในใช้โซเชียลมีเดียแต่ละช่องทาง หรือแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์

น.ส.ประภารัตน์ ไชยยศ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายดูแลบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปี 2564 พบว่า ปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์มีผู้ร้องเรียนเข้ามากว่า 50,000 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 20% 

 

โดยปัญหาซื้อขายออนไลน์เป็นปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง มีทั้งปัญหาได้รับของไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือหลอกขายสินค้าออนไลน์ ขณะเดียวกันช่วงอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปเป็นช่วงอายุที่พบปัญหานี้มาก มาจากการที่มีอำนาจในการซื้อสูง แต่ก็ยังขาดข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน

 

สำหรับการโฆษณาในปัจจุบันมักนำเสนอราคาที่ถูก มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ มีการสร้างเรื่องให้คนเชื่อและต่อมาจึงหลอกลวง รวมถึงมีการใช้ผู้สูงอายุมาเป็นพรีเซ็นเตอร์มากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ยาทาแก้ปวดเข่าที่นำเสนอให้เห็นว่าหากผู้สูงอายุใช้ยาตัวนี้ ต่อมาก็จะปวดเข่าน้อยลง เดินได้คล่องแคล่วขึ้น 

 

หากพบโฆษณาในลักษณะนี้ต้องการให้ไปปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ และควรตรวจสอบชื่อผู้ขาย ที่อยู่ หรือลองนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น เว็บไซต์แบล็กลิสต์เซลเลอร์ (blacklistseller.com) หรือค้นหาชื่อผ่านกูเกิ้ล (google)

นายพศวัตน์ จุมปา หัวหน้าฝ่ายเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่าการโฆษณาในปัจจุบัน มักใช้วิธีการลดราคาที่มาก ๆ เพื่อดึงดูดใจ รวมถึงมักมีการใช้ความที่เกินจริง เช่น ผลิตภัณฑ์นี้ขายดีเป็นอันดับหนึ่ง หรือยายี่ห้อนี้ป้องกันโควิดได้ 100% 

 

อย่างไรก็ตาม การอ้างข้อมูลที่เป็นสถิติจะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรที่จะซื้อ

 

ดังนั้น จึงอยากฝากเตือนผู้บริโภคทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มักถูกดึงดูดด้วยการโฆษณาในลักษณะนี้ว่า อย่าเพิ่งเร่งรีบซื้อสินค้า แต่ควรต้องหาข้อมูลก่อน ทั้งข้อมูลของผู้ขาย ที่อยู่ของผู้ขาย การซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ (E-Marketplace) ที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศเพราะหากเกิดปัญหาจะไม่ตามตัวผู้กระทำผิดได้ยาก 

 

นอกจากนี้ยังอาจสอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับลูกหลานที่บ้าน หรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ. หรือ อย. ในประเด็นอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เสี่ยงต่อชีวิตได้หากใช้หรือทาน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในการซื้อขายออนไลน์

 

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การรู้เท่าทันออนไลน์เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเผชิญหน้า รวมทั้งเรื่องการใช้สินค้าและบริการเป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ ขณะเดียวกันการซื้อขายสินค้าออนไลน์เหล่านี้กำลังสร้างภาระให้กับทุกคนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลและการรู้เท่าทันโลกออนไลน์ ไม่ให้ถูกหลอกได้ง่าย 

 

หากดูสถิติของกรมการปกครองจะพบว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีถึง 10 ล้านกว่าคน และมีสถิติที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกำลังเข้าใกล้เข้าสังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปี จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะร่วมกันหาแนวทางในการทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลที่มากพอ มีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยี