สงกรานต์65 ไม่คึกคัก ค่าครองชีพแพง-น้ำมันแพง คนงดเดินทาง

07 เม.ย. 2565 | 12:52 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2565 | 20:01 น.

สงกรานต์65 ไม่คึกคัก ค่าครองชีพแพง-น้ำมันแพง คนงดเดินทาง  คาด เงินสะพัดลดลง 5.4% เหลือ1.06แสนลบ. หอการค้ายังเชื่อเศรษฐกิจฟื้นได้ครึ่งปีหลัง ทั้งปีโต 3.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจ พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า บรรยากาศสงกรานต์ปี 2565 ค่อนข้าง เงียบเหงาสะท้อนมาจาก ประชาชนมีการวางแผนการใช้จ่ายลดลง เนื่องจากสินค้า ค่าครองชีพและค่าบริการต่างๆ มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการประหยัดค่าใช้จ่ายและส่วนหนึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

การวางแผนทำกิจกรรมท่องเที่ยวในปีนี้จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดของตนเองเป็นส่วนใหญ่ งดการเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดไกลๆเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีการปรับราคาค่อนข้างสูงและความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

 

ทำให้มีข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลต่อบรรยากาศในปีนี้ไม่ค่อยคึกคัก ทำให้เม็ดเงินสะพัดในช่วงสงกรานต์ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5.4 โดยมีเม็ดเงินเพียง 1.06 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

สงกรานต์65 ไม่คึกคัก  ค่าครองชีพแพง-น้ำมันแพง คนงดเดินทาง

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังมองตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 2.5-4 หรือขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 แม้หลายหน่วยงานจะมีการประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำก็ตาม โดยการฟื้นตัวอย่างชัดเจนเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะถึงแม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จะยังคงมีตัวเลขที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูงแต่ ประชาชนสามารถปรับตัวอยู่กับสถานการณ์ได้มากขึ้น โดยไม่ได้เป็นการบั่นทอนการใช้จ่ายให้ลดลง ประกอบกับการส่งออกของประเทศมั่นใจว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ดีแม้หลายหน่วยงานจะมีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกก็ตาม โดยมองว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4-5”

สงกรานต์65 ไม่คึกคัก  ค่าครองชีพแพง-น้ำมันแพง คนงดเดินทาง

ส่วนความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น เชื่อว่าการสู้รบจะอยู่ในวงจำกัด แม้จะมีการคว่ำบาตรทางการค้าและมีผลต่อเศรษฐกิจโลก แต่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายได้มากขึ้น หลังจากสหรัฐมีการประกาศเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันฉุกเฉินออกมาใช้ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มีผลต่อราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง โดยราคาน้ำมันที่ไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้นมีผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่งเฟส 5 เติมเม็ดเงินอีก 4.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ประชาชนยังคงกล้าในการจับจ่ายใช้สอย ในช่วงที่ภาคเอกชนยังคงประคับประคองสถานการณ์ราคาสินค้าและค่าครองชีพ ไม่ได้ปรับราคาสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศและเมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันมีการผ่อนคลายลงเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงได้