จับสัญญาณ คล้าย “น้ำท่วมใหญ่” ซ้ำรอยปี 54

03 เม.ย. 2565 | 19:03 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2565 | 02:15 น.
23.5 k

เตือน ปี 2565 “รศ.ดร.เสรี” จับสัญญาณ “พายุ ฝนมาเร็ว” ลุ้น ต้น พ.ค. หาก “ลานีญา”ลากยาว โอกาสเกิดซ้ำรอย ปี 2554 หรือ ฝนตกเหมือนปีที่แล้ว แจ้งประชาชนว่าจะทำอย่างไรให้รู้ตัวก่อน แล้วถ้ามีสัญญาณมากกว่า 70% คล้าย “น้ำท่วมใหญ่” ซ้ำรอยปี 54 จะทำอย่างไร ต้องเตรียม ก่อนสายเกินไป

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พายุลูกแรก ไทยเจอแล้ว และไปสลายที่เวียดนาม ผลกระทบทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีฝนตก แล ะขณะนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำ แต่ไม่ใช่ดีเปรสชัน อาจจะเป็นหย่อมซึ่งในขณะนี้กำลังจะเข้าทางภาคใต้เข้าทางสุราษฎร์ธานี มาสลายตัวที่ จังหวัดชุมพร นี่คือลูกที่ 2 กำลังเกิดในช่วงนี้ มองว่าไม่น่าจะเป็นพายุดีเปรสชัน

 

ช่วงนี้อยู่ใน "ลานีญา" จะทำให้เกิดพายุง่าย เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงขึ้นผิดปกติ จะมีโอกาสเกิดเป็นพายุได้มากกว่าปกติ และความกดอากาศสูงเข้ามาคล้ายกับปี 2554 ฝนจะมาเร็วขึ้น ร้อนจะสั้นลง  น้ำในเขื่อนปัจจุบันนี้เมื่อเทียบกับปี 2554 นั้นมีน้อยกว่า ดังนั้นเมื่อมองว่าหากฝนตกแล้วจะมีการพร่องระบายน้ำในเขื่อนนั้นมีน้อย เพียงแต่ว่าถ้าตกใต้อ่างก็จะแรง ทำอะไรไม่ได้

 

รศ.ดร.เสรี กล่าาวว่า ตอนนี้เรามีเวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ผู้บริหารน้ำต้องรู้ว่าถ้าฝนตกเท่ากับปริมาณปี 2554 จะต้องทราบว่าจะเอาน้ำไปไว้ที่ไหน 1. ถ้าตกบริเวณเหนือเขื่อน แน่นอนเขื่อนสามารถเก็บน้ำได้ ยังมีพื้นที่เหลือเพียงพอ แต่ถ้าตกใต้เขื่อน จะต้องรู้ว่าจะนำน้ำไปไว้ที่ไหน แล้วจะระบายไปที่ไหน ต้องเตรียมแผนบอกประชาชน เพราะการตกใต้เขื่อนหมายความว่าทุกคนได้รับความเสียหายแน่ หากจะจัดไปทิศทางไหน ทางนั้นก็จะเสียหาย อย่างน้อยผู้ใหญ่จะต้องมีคำตอบอยู่ในมือไว้ก่อน

"ครั้งที่แล้ว ปี 2554 เราไม่ได้มีแผน น้ำผ่านมาแล้วจะเสียหายอย่างไร ไม่ได้ทำการบ้านไว้เลย ก็เหมือนตอนนี้ยังไม่ทราบเลยว่าผู้บริหารได้เตรียมแผนอะไรไว้บ้างก็จะลำบาก เนื่องจากตอนนี้มีสัญญาณเตือนมาแล้ว มีความเสี่ยง แม้ว่าจะน้อยกว่า 30% เราก็ต้องบริหาร คำถามก็คือ ว่า 1. ถ้าน้ำมามากเหมือนปี 2554 หรือเหมือนปีที่แล้ว เพราะแค่ปีที่แล้วก็เหนื่อยแล้วอยากให้เตรียมการแล้วแจ้งประชาชนว่าจะทำอย่างไรให้รู้ตัวก่อน แล้วถ้ามีสัญญาณมากว่า 70% แล้วจะทำอย่างไร จะต้องเตรียมทั้งสองแผน"

 

รศ.ดร.เสรี  กล่าวว่า "ลานีญา" ยังแรง ทำให้ฤดูฝนมาเร็วกว่าปกติ  ฝนก็เยอะที่เห็นมาช่วงก่อนฤดูฝนก็เป็นสัญญาณน้ำท่วมใหญ่แล้ว แต่ว่ายังไม่ครบในสัญญาณข้อที่ 2  ก็คือระดับความรุนแรงของลานีญาจะต่อหรือไม่ถึงปลายปี ซึ่งตรงนี้คาดการณ์ได้ยาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่สองที่ยังไม่มาจะต้องจับสัญญาณอีกทีประมาณเดือนพฤษภาคมจะชัดเจนว่าประเทศไทยจะลานีญาจะต่อยาวหรือไม่ ถ้าต่อยาว น้ำท่วมแน่นอน

 

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ - องค์การมหาชน โพสต์ อัพเดท นับถอยหลัง 28 วัน สิ้นสุดฤดูแล้ง ณ วันที่ 30 เม.ย.65 

 

นับถอยหลัง 28 วัน สิ้นสุดฤดูแล้ง

 

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก  กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 3 เมษายน 2565 ดังนี้

 

1. ผลการดำเนินงานตาม 9 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/65 กรมชลประทาน ดำเนินการติดตามความคืบหน้าการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคลองส่งน้ำสายใหญ่ระหาน อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท และคลองหนองบัว คลองต้นหมัน อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อลดการสะสมของวัชพืชกีดขวางทางน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำ

 

 

2. แหล่งน้ำทั่วประเทศ

 

2.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 26,607 ล้าน ลบ.ม. (46%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 20,796 ล้าน ลบ.ม. (43%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,245 ล้าน ลบ.ม. (64%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,566 ล้าน ลบ.ม. (51%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์

 

2.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 4,412 ล้าน ลบ.ม. (24%) โดยเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

 

3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ถึงปัจจุบัน)

 

3.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 20,615 ล้าน ลบ.ม. (44%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 16,678 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 14,102 ล้าน ลบ.ม. (85%)

 

3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 4,700 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,450 ล้าน ลบ.ม. (95%)