กรมประมง “ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน” 3 เดือน ช่วงปลาวางไข่

31 มี.ค. 2565 | 18:02 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2565 | 01:02 น.
782

"กรมประมง" ประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน” 3 เดือน ช่วงฤดูปลาวางไข่ หวังเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ พื้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 65 หากผู้ใดฝ่าฝืน พ.ร.ก..ประมง มาตรา 70 ปรับสูงสุด 30 ล้านบาท ต้องได้รับโทษทางปกครอง

วันที่ 31 มีนาคม 2565 ณ บริเวณท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่  นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  พร้อมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2565 (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน)

 

โดยครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2565 พร้อมปล่อยเรือตรวจการประมงทะเล จำนวน 6 ลำ ออกปฏิบัติการ และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 620,000 ตัว ลงสู่ทะเลกระบี่ โดยมีนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายสุวิทย์  สุภาพ  นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ คณะเจ้าหน้าที่และประชาชนให้การต้อนรับ

 

พิธีบวงสรวง

 

 

 นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์  อธิบดีกรมประมง  ประธานในพิธีฯ กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพประมงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวประมง ถือเป็นนโยบายสำคัญที่  ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้เน้นย้ำให้กรมประมงถือปฏิบัติเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรประมง โดยมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน

 

 

กรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 และมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้วางไข่แพร่ขยายพันธุ์เจริญเติบโตและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าก่อให้เกิดการทำประมงที่ยั่งยืนดังเช่นที่ผ่านมา โดยจากผลการศึกษาทางวิชาการพบว่า  ในช่วงเวลาการบังคับใช้มาตรการฯ

 

กรมประมง “ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน”  3 เดือน ช่วงปลาวางไข่

 

พบสัตว์น้ำชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์เพศสูง และพบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความชุกชุมและแพร่กระจายหนาแน่นในพื้นที่ โดยเฉพาะเดือนมิถุนายนมีความหนาแน่นสัตว์น้ำสูงสุดถึง 5,161 ตัว/1,000 ลบ.ม. ประกอบกับจากสถิติผลจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์และพื้นบ้านทางฝั่งทะเลอันดามัน ในปี 2564 มีปริมาณผลการจับ 388,022  ตัน สูงกว่าปี 2560 อยู่ถึง 12,005 ตัน โดยเฉพาะผลการจับปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ในปี 2564 พบว่ามีปริมาณ 12,267 ตัน สูงกว่าเมื่อปี 2560 ซึ่งมีผลการจับเพียง 3,602 ตันเท่านั้น

 

ดังนั้น ในปีนี้ กรมประมงยังคงดำเนินมาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงเวลา พื้นที่ และเครื่องมือที่อนุญาตให้ใช้เช่นเดิม ตามประกาศกรมประมงฯ พ.ศ. 2561 คือ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2565 ในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง