เช็คเงินกู้โควิด 1.5 ล้านล้าน เหลือเท่าไหร่ ใช้ในโครงการอะไรไปบ้าง

27 มี.ค. 2565 | 07:25 น.
2.9 k

เปิดข้อมูลการบริหารจัดการการเงินของประเทศ หลังวิกฤตยูเครน–รัสเซีย ส่งผลกระทบหนักเศรษฐกิจ เช็คข้อมูลล่าสุด รัฐบาลบริหารเงินกู้โควิด วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท เป็นอย่างไร เหลือเงินเท่าไหร่ เพียงพอรับแนวโน้มอนาคตหรือไม่

หลังจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนได้แสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรหาทางกู้เงินเพิ่มเติมมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นผลกระทบจากวิกฤตยูเครน–รัสเซีย ว่า รัฐบาลกำลังประเมินสถานการณ์เรื่องนี้อยู่ โดยขอให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้ 

 

พร้อมยอมรับว่า รัฐบาลจะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเชื่อว่า หากดำเนินการจริง กระทรวงการคลังคงไม่ได้มีปัญหา แต่จะออกมาเป็นในรูปแบบใดได้บ้าง ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ขอให้ใจเย็น ๆ  และดูสถานการณ์กันไปก่อน

 

จากกรณีนี้ทำให้เกิดข้อกังวลใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางด้านการเงินของประเทศ โดยเฉพาะเงินที่สำรองเอาไว้ใช้ในยามวิกฤตว่าจะเพียงพอต่อการต่อสู้กับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่

 

หลังจากมีนักวิเคราะห์และภาคเอกชนประเมินว่า สถานการณ์ความรุนแรงอาจยังไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ และอาจทำให้รัฐบางต้องตุนเงินเอาไว้เป็นกระสุนประคับประคองเศรษฐกิจต่อไป 

โดยเฉพาะการใช้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้ง 2 ฉบับ กรอบวงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท

 

ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า วงเงินก้อนนี้เหลืออยู่ในจำนวนจำกัดแล้ว แยกเป็น 2 ฉบับ ดังต่อไปนี้

 

1.พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท (อัพเดท 4 มี.ค.2565)

  • ใช้ไปแล้ว 982,373 ล้านบาท
  • จำนวนโครงการ 1,118 โครงการ
  • คงเหลือ 17,626 ล้านบาท

 

หมายเหตุ : อนุมัติโครงการใหม่ไม่ได้ เพราะ พ.ร.ก.ได้สิ้นสุดแล้ว แต่สามารถปรับรายละเอียดโครงการได้ เช่น ขยายเวลาโครงการ ปรับสาระสำคัญของโครงการ แต่ต้องอยู่ในกรอบวงเงินเดิมที่อนุมัติ

2.พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท (อัพเดท 16 มี.ค.2565)

  • ใช้ไปแล้ว 402,865 ล้านบาท
  • จำนวนโครงการ 66 โครงการ
  • คงเหลือ 74,285 ล้านบาท

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤต ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ใช้ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,356,520 ล้านบาท แยกเป็นการใช้จ่ายในกลุ่มต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ 3 กลุ่ม ดังนี้

  • ด้านสาธารณสุข ใช้ไปแล้วทั้งสิ้น 213,581 ล้านบาท 
  • ด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ใช้ไปแล้วทั้งสิ้น 869,430 ล้านบาท
  • ด้านการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและการกระตุ้นการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ ใช้ไปแล้วทั้งสิ้น 273,508 ล้านบาท

 

ส่วนผลกระทบและแนวทางมาตรการรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน และ รัสเซีย โดยในด้านผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ จากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ 

  1. ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยกรณีที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล คาดว่า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5% แต่หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 125 ดอลล่าสหรัฐฯต่อบาร์เรล เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6.2% แต่ถ้าระดับวิกฤตราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 150 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 7.2%
  2. ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแนวโน้มการลดลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย

 

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบทั้งจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม 3.5 – 4.5% แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะยังสามารถขยายตัวอย่างน้อยได้ไม่ต่ำกว่า 3% 

 

สำหรับแนวทางมาตรการรองรับผลกระทบ ตามข้อเสนอของ สศช. มีดังนี้

  • บริหารจัดการราคาน้ำมันภายในประเทศให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ
  • ดูแลค่าครองชีพประชาชนผู้มีรายได้น้อย
  • ดูแลกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบ
  • ดูแลกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิต