พัฒนา “หัวพันธุ์มันฝรั่ง” ป้อนอุตสาหกรรม กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี

24 มี.ค. 2565 | 18:04 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2565 | 01:07 น.
722

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รับนโยบาย “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” พัฒนา “หัวพันธุ์มันฝรั่ง” ป้อนอุตสาหกรรมปีละกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท หวัง สร้างรายได้ให้เกษตรปลูก90 วันมีรายได้ปีละกว่า 1.4 พันล้านบาท

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้ให้นโยบายกับกรมวิชาการเกษตร(กวก.)ในการพัฒาหัวพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์ดีเพื่อให้เกษตรกรไทยปลูก ลดการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหัวพันธุ์และหัวมันสดแปรรูปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบในประเทศที่มีมูลค่าปีล่ะ1.5 หมื่นล้านบาท มีเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง7,900 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 4 หมื่นไร่ ผลผลิต120,000ตัน

 

จากความต้องการใช้หัวมันสดปีละ 170,000-200,000 ตัน อาชีพปลูกมันฝรั่งทำให้เกษตรกรและสหกรณ์ผู้รวบรวมผลผลิตมีรายได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาทในช่วงระยะการปลูก 90-120วันในฤดูแล้ง  จึงเป็นพืชที่สามารถทดแทนการปลูกพืชอื่นทึ่ผลผลิตล้นตลาดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่โควต้าลดลงกระทบต่อรายได้อีกด้วย นอกจากนั้นให้กวก.พัฒนาสายพันธุ์เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งฝ่ายนโยบายพร้อมสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัย

 

"ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับภาคเอกชน และเกษตรกร ที่จะร่วมกันพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อให้เกษตรกรไทยได้มีพันธุ์ดีปลอดโรคหัวเน่าและเชื้อรา ลดการนำเข้า และลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร  ซึ่งในเรื่องงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านยินดีสนับสนุนเต็มที่"

ระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงษ์

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร(กวก.) กล่าวว่ากรมจะร่วมกับเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูป ในการขยายพันธุ์มันฝรั่งเชียงใหม่ 1และเชียงใหม่ 2 เพื่อเพิ่มจำนวนพันธุ์ขยายรองรับความต้องการของเกษตรกร โดยกรมสนับสนุนมันฝรั่งทั้ง 2 สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรคใบไหม้และได้มาตรฐานการแปรรูปไปส่งเสริมปลูกในพื้นที่เกษตรกร

 

 ทั้งนี้กำหนดเป้าหมายปี 2565-2567  ให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์ดี จากหัวพันธุ์หลักที่กรมวิชาการเกษตรผลิต 600,000 หัว เพื่อผลิตเป็นหัวพันธุ์ขยาย (G1) ในพื้นที่ 60 ไร่ จะได้ผลผลิตอย่างน้อย 90 ตัน ในปี 2566 ผลิตเป็นหัวพันธุ์รับรอง (G2) ในพื้นที่ 258 ไร่ ได้ผลผลิต 645 ตัน ในปี 2567 และเป็นวัตถุดิบส่งเข้าโรงงานแปรรูป ในปี 2568 อย่างน้อย 2,064 ตัน

 

พัฒนาหัวมันฝรั่ง

 

ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง ไม่น้อยกว่า 15,000-30,000 บาท/ไร่  ลดการพึ่งพาการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศ  ที่นำเข้าหัวพันธุ์ปีละ 6,500 ตัน มูลค่า227 ล้านบาท  ซึ่งเกษตรกรในความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 140 ล้านบาท  

 

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัยมันฝรั่ง ภาคเอกชนที่เข้าร่วม ได้แก่ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ฟู้ดส์ จำกัด สนับสนุนงบประมาณ เช่น การสร้างโรงเรือนผลิตเนื้อเยื่อพ่อแม่พันธุ์  การทดสอบพันธุ์ใหม่ ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จ. เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา ตาก สกลนคร และนครพนม นอกจากนั้นจะมีความร่วมมือในการขยายผลเทคโนโลยียกระดับคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานสู่การเป็นแปลงการเกษตรที่ดี (GAP)

 

สู่เกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ทั้งนี้สหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ จำกัด และสหกรณ์โหล่งขอดสามัคคี จำกัด สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก ช่วยผลิตหัวพันธุ์และกระจายพันธุ์ดีให้เกษตรกรปลูกทดแทนพันธุ์เดิม เกษตรกรได้หัวพันธุ์ราคาถูก

 

กรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่ตรวจสอบโรคแมลงและคุณภาพผลผลิต สำหรับด้านการตลาดรองรับการจำหน่ายผลผลิต บริษัทผู้ผลิตมันฝรั่งแปรรูปรับซื้อผลผลิตราคาที่เหมาะสม โดย มันฝรั่งเพื่อการแปรรูปหน้าแล้ง 11.00-11.30 บาท/กก.  หน้าฝน 13-14 บาท/กก.  และหัวพันธุ์มันฝรั่งรุ่นที่ 3 (เกษตรกรผลิตเอง) ราคา 18 บาท/กก.

บรรยากาศ

นายชวาลา  วงศ์ใหญ่ ผู้แทนบริษัทเป๊ปซี่ โคล่า(ไทย) จำกัด กล่าวว่ายินดีร่วมมือกับกวก.เพื่อพัฒนาและขยายหัวพันธุ์ดีและทนต่อโรคในเขตร้อน ทั้งนี้ตลาดมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบมูลค่าปีละประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท  ปัจจุบันผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศจึงต้องมีการนำเข้าทั้งหัวพันธุ์และหัวมันสดเพื่อแปรรูปจำนวนมาก

 

นายบุญศรี ใจเป็ง ผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง กล่าวว่าปลูกมันมา 50 ปี และทำงานร่วมกับกวก.มา 30 ปี ต้องการให้กรมวิชาการเกษตรพัฒนาและขยายพันธุ์ขยายพันธุ์ที่ต้านทานโรคเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร เนื่องจากโรคหัวเน่าและโรคราเป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้เกษตรกร