เปิดมาตรการลดค่าครองชีพ รัฐเทงบ 8 หมื่นล้าน ช่วยคนเดือดร้อน 4 กลุ่มเท่านั้น

24 มี.ค. 2565 | 17:17 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2565 | 00:32 น.
1.2 k

รองนายกรัฐมนตรี แถลงมาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์วิกฤตยูเครน–รัสเซีย ใช้เงินงบประมาณต่าง ๆ รวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท ช่วยคนเดือดร้อน 4 กลุ่ม ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ลดเงินสมทบประกันสังคม 3 เดือน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน แถลงมาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย วันนี้ ว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาครั้งนี้ จะช่วยดูแลผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น 3 เดือนจากนี้ ครอบคลุมประชาชนหลายกลุ่มที่จะได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงนี้ไปได้

 

“ที่ผ่านมาในการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต้องถือว่ารัฐบาลไทยเมื่อเทียบกับรัฐบาลประเทศอื่น ก็ถือว่าได้ดูแลแก้ไขและเยียวยาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญ เอาใจใส่ ทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลประชาชน และบรรเทา หรือผ่านพ้นความเดือดร้อนครั้งนี้ไปให้ได้ และขอให้ทุกคนช่วยกัน”

 

แถลงมาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย

ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัจจุบันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความน่าเป็นห่วง จากเดิมที่คาดว่าสถานการณ์พลังงานที่ดูสูงขึ้นเกิดจากการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจของโลก มีความต้องการพลังงานและสินค้าบางประเภทสูงเร็วว่าการผลิตที่จะตามมา หลังจากการผลิตได้ลดลงไปในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 

 

แม้ว่าในเบื้องต้นหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจจะประเมินว่าสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะจบสิ้นในเดือนมี.ค. จนเข้าสู่ปกติ ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวและไปข้างหน้าต่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่สถานการณ์วิกฤตยูเครน-รัสเซีย กลับไม่จบเร็ว และน่าจะยืดเยื้อต่อไป ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และจำเป็นต้องออกมาตรการลดค่าครองชีพ โดยเชื่อว่า ในช่วง 3 เดือนจากนี้น่าจะเห็นอะไรชัดขึ้น 

 

“ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อมาก ทำให้การค้าขายต่าง ๆ ไม่สมดุลกัน โดยราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น จะถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งโจทย์ในการแก้ปัญหาจะยากขึ้น แต่วันนี้คาดคะเนว่าจะขอดูสถานการณ์ไป 3 เดือนก่อน และออกมาตรการระยะสั้นมาดูแล”

 

แถลงมาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย

สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพ อัพเดทล่าสุด วันที่ 24 มี.ค.2565 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีด้วยกันดังต่อไปนี้

  • ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ได้รับส่วนลดค่า FT ลง 22 สตางค์ เป็นเวลา 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.2565) 
  • นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 ได้รับการลดเงินนำส่งจาก 5% เหลือ 1% งวดค่าจ้าง พ.ค. – ก.ค. ครอบคลุมนายจ้าง 4.9 ล้านคน และผู้ประกันตน 11.2 ล้านคน
  • ผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน ลดเงินนำส่งจาก 9% เหลือ 1.9% งวดค่าจ้าง เดือนพ.ค. – ก.ค. 2565หรือจ่ายเงินสมทบลดลงจาก 432 บาทต่อเดือน เหลือ 91 บาทต่อเดือน 
  • ผู้ประกันตนในมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน ลดเงินนำส่งเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
  • ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ได้รับการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มเป็น 100 บาท/ 3 เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน ได้รับส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ใช้ก๊าซ NGV ทั่วไป 3.18 แสนคน โดยตรึงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กก. เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาท/ลิตร จำนวน 50 ลิตร หรือ 250 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาท/กก. ในวงเงิน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน

 

มาตรการลดค่าครองชีพ อัพเดทล่าสุดวันที่ 24 มี.ค.2565 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

 

สำหรับการช่วยเหลือผ่านมาตรการลดค่าครองชีพดังกล่าว ครอบคลุมกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มครัวเรือนทั่วไป 
  • กลุ่มนายจ้างและผู้ประกันตน
  • กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
  • กลุ่มขนส่งและโดยสารสาธารณะ 

 

สำหรับวงเงินและแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินมาตรการทั้งหมด 80,247 ล้านบาท แยกเป็นดังนี้

  • เงินกู้จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 39,520 ล้านบาท สัดส่วน 49%
  • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 35,224 ล้านบาท สัดส่วน 44%
  • งบกลาง สำนักงบประมาณ 3,740 ล้านบาท 5%
  • เงินจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 1,763 ล้านบาท สัดส่วน 2%