ปลุกรถไฟทางคู่เฟส 2 กว่า 2.65 แสนล้าน บูมขนส่งระบบราง

19 มี.ค. 2565 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2565 | 19:23 น.
2.1 k

รฟท.ถกสศช.ลุยสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2 วงเงิน 2.65 แสนล้าน นำร่องเปิดประมูล 2 เส้นทาง ขอนแก่น-หนองคาย และปากน้ำโพ-เด่นชัย เริ่มปี 65-66 หนุนขนส่งสินค้าจีน-ลาว

ที่ผ่านมารฟท.เร่งรัดผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางมากขึ้นเป็น 20 ล้านตันต่อปี และกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวหันมาใช้รถไฟเดินทางเพิ่มขึ้น 35 ล้านคนต่อปี

 

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส)ที่ 2 ที่ผ่านมารฟท.มีแผนพัฒนาโครงการดังกล่าวทั้งหมด 7 เส้นทาง วงเงิน 265,200 ล้านบาท ขณะนี้จากการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า จะคัดเลือกเส้นทางที่มีความจำเป็นลำดับแรกมาดำเนินการก่อน โดย รฟท. ได้เลือกเส้นทาง ช่วงขอนแก่น-หนองคาย จังหวัดหนองคาย เป็นโครงการแรกที่จะเริ่มดำเนินโครงการฯ เฟส 2 เพราะเป็นเส้นทางที่มีความพร้อม และมีโครงข่ายเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าจากประเทศจีน สปป.ลาว และประเทศไทย

 

 

  "ขณะนี้ รฟท. เสนอโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ให้ สศช. พิจารณาแล้ว แต่จะเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาได้เมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับ สศช. ส่วนของ รฟท. อยากให้เส้นทางนี้ผ่านความเห็นชอบ และเริ่มก่อสร้างโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นเส้นทางที่ควรจะก่อสร้างจริงๆ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วด้วย จึงอยากให้มีการดำเนินการโดยเร็ว เพราะกว่าจะได้เริ่มต้นสร้าง ต้องใช้เวลาในขั้นตอนการประกวดราคและต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่าจะสร้างเสร็จ อย่างไรก็ตาม รฟท. คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลเส้นทางดังกล่าวได้ภายในปี 2565"

 

 

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า สำหรับเส้นทางที่ 2 ที่ สศช. และ รฟท. มีความคิดเห็นตรงกันว่าควรจะดำเนินการ ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย จังหวัดแพร่ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะมาเติมเต็มช่วงที่ขาดหายไป ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 1 มีการก่อสร้างช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ และยังมีโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ดังนั้นหากมีการก่อสร้าง ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย แล้วเสร็จจะทำให้เป็นโครงข่ายรถไฟทางคู่ที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม รฟท. จะเร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลโครงการเสนอให้ สศช. พิจารณาต่อไป คาดว่าเส้นทางนี้จะสามารถเปิดประมูลได้ในปี 2566

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้น ได้แก่ สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท และสายอีสาน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.68 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานในขั้นตอนการเวนคืน คาดว่าผู้รับจ้างจะเข้าพื้นที่ก่อสร้างเร็วๆ นี้ ปัจจุบันงานอยู่ในกรอบเวลาที่วางไว้ โดยสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ก่อสร้าง 6 ปี เปิดบริการปี 2571 ส่วนสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 2569

 

 

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.66 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมอนุมัติพิจารณาโครงการและเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนมีนาคม 2565 เริ่มก่อสร้าง ปี 2566 คาดเปิดให้บริการปี 2569 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับรถไฟ ทั้งหมด 15 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีหนองตะไก้ 2.สถานีนาทา 3.สถานีเขาสวนกวาง ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

 

 

  2.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการและเสนอรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาเห็นชอบ ระยะเวลาก่อสร้าง ปี 2566 คาดเปิดให้บริการปี 2570 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 39 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีบางกะทุ่ม 2.สถานีวังกะพี้ 3.สถานีศิลาอาสน์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

 

3.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.42 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)ตามมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หลังจากนั้นจะส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐในตรี (ครม.) ภายในเดือนตุลาคม 2565 เริ่มก่อสร้าง ปี 2566 คาดเปิดให้บริการปี 2570 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับรถไฟ ทั้งหมด 22 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง คือ สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

4.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.73 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครางการฯพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เริ่มก่อสร้าง ปี 2566 คาดเปิดให้บริการปี 2571 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 65 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีชุมทางทุ่งสง 2.สถานีบางกล่ำ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

 

 

 5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครางการฯพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เริ่มก่อสร้าง ปี 2566 คาดเปิดให้บริการปี 2570 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 17 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีห้างฉัตร 2.สถานีสารภี ความเร็วในการให้บริการ 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

 

6.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เบื้องต้นรฟท.อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการฯ เริ่มก่อสร้าง ปี 2566 คาดเปิดให้บริการปี 2571 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ ทั้งหมด 35 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ได้แก่ 1.ที่หยุดรถบ้านตะโก 2.สถานีบุฤาษี 3.สถานีหนองแวง 4.สถานีบุ่งหวาย ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ปลุกรถไฟทางคู่เฟส 2 กว่า 2.65 แสนล้าน บูมขนส่งระบบราง

 

7. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.66 พันล้านบาท ปัจจุบันได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เบื้องต้นอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครางการฯ เริ่มก่อสร้าง ปี 2566 คาดเปิดให้บริการปี 2570 โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ ทั้งหมด 3 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง คือ สถานีปาดังเบซาร์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง