‘GO GREEN’โมเดลธุรกิจใหม่ ดึงนักลงทุน-สร้างรายได้

18 มี.ค. 2565 | 10:42 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2565 | 20:04 น.
910

“สุพัฒนพงษ์”ย้ำ นโยบายรองรับเป้าหมายไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำของรัฐ เปิดโอกาสหลากธุรกิจต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวหน้า ธุรกิจไทยใหญ่-เล็กสนใจร่วมเครือข่ายแต่ยังไม่มั่นใจจะแก้ได้ทัน UNDP เร่งวิจัยกลไกทางการเงินเร่งธุรกิจปรับตัวลดโลกร้อน

โรดแมปลดและงดปล่อยคาร์บอนภายในปี 2065 ของรัฐบาล ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “คิกออฟธุรกิจสีเขียว” 
ในงานสัมมนา Go Green 2022 ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และเครือเนชั่น ว่า รัฐบาลมีชุดนโยบายหลายเรื่องรองรับการพัฒนายั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดโอกาสใหม่ให้ต่อยอดสร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ อย่างมหาศาล เป็นทางออกและทางรอดหลังวิกฤตโควิด-19

 

 รัฐบาลประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ในปี 2065 ในปี 2065 ในเวที COP 26 ที่สก็อตแลนด์ จึงมีโรดแมปต้องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 350 ล้านตัน จำนวนนี้เป็นคาร์บอนไดออกไซค์ 250 ล้านตัน

 

ด้านกิจการไฟฟ้า ตั้งเป้าลดคาร์บอนไดออกไซด์จาก 100 ล้านตัน ให้เหลือ 35 ล้านตัน โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในแผนพีดีพีใหม่ ได้แย่งซื้อและลงนามซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากสปป.จาก 9,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 12,000 เมกะวัตต์ ขณะที่เอกชนลงทุนด้านไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เพิ่ม มีการพัฒนาแบตเตอรี กักเก็บสำรองพลังงาน ให้ใช้ไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่ขาดตอน ซึ่งก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ตลาดที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ราคาถูกลง

 

ภาคขนส่ง ปล่อยคาร์บอนได ออกไซด์ 80 ล้านตัน ต้องลดครึ่งหนึ่ง รัฐบาลประกาศนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (EV3) ที่ปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ หรือ 30:30 เพื่อจะรักษาความเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคของไทย ทั้งแบบสันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้าไว้ให้ได้ ถ้าไม่ทำเราจะสูญเสียสิ่งที่ได้สร้างมาให้สูญเปล่าไป

ยังมีนโยบายสนับสนุนการผลิตและใช้อีวีในประเทศที่ประกาศล่าสุด ซึ่งมีเสียงตอบรับอย่างดีทั้งจากค่ายรถผู้ผลิตและผู้บริโภค ใน 3 ปีจากนี้จะมีการประกอบการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย เกิดสถานีชาร์จ 12,000 แห่ง การพัฒนาแบตเตอรีอีวี ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ๆ เกิดบ็อกซ์ ชาร์จ ที่พร้อมติดตั้งตามบ้านพักอาศัย ต่อยอดสู่เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนที่เริ่มตามมา “เราต้องเก็บเกี่ยวเทคโนโลยี ที่ดีที่สุดไว้ในประเทศไทยให้ได้”

 

ด้านภาคครัวเรือนหรือผู้บริโภค มีความตื่นตัวการลดโลกร้อน มีการลงทุนเพื่อลดการใช้พลังงานเพิ่มกันมากขึ้น ขณะเดียวกันในด้านการกักเก็บคาร์บอนและปล่อยออกซิเจนนั้น การเพิ่มพื้นที่ป่าการปลูกป่าช่วยในการดูดซับคาร์บอนฯไปได้ 128 ล้านตัน
 

“เหลืออีก 40 ล้านตันที่ต้องหาทางลด มีข้อเสนอของนักวิชาการ ให้เปลี่ยนหลุมก๊าซธรรมชาติที่หมดแล้วในอ่าวไทย ที่มีลักษณะเป็นกะเปราะแบบหลุมขนมครก เหมาะสมที่จะใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วอัดกลับลงไปกักเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งมีศักยภาพรองรับได้ 3,000 ล้านตัน ถ้าอัดลงเก็บใต้ดินจะใช้งานไปได้ 100 ปี ซึ่งต้องศึกษาความคุ้มค่ากันต่อไป”
 

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวย้ำว่า การลดโลกร้อนด้วยวิทยาการก้าวหน้ายุคดิจิทัลดังกล่าว เป็นโอกาสสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างหลากหลาย ที่จะช่วยเติมเต็มนิเวศการพัฒนายั่งยืนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

สอดคล้องกับเวทีเสวนา Green Strategy ยุทธศาสตร์สีเขียว โดยผู้บริหารองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นบทบาทภาคธุรกิจ ที่ต้องปรับตัวรับกระแสการพัฒนายั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ

 

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า นานาชาติพยายามแก้ปัญหาโลกร้อนมานาน มีการประชุมเวทีนานาชาติหลายรอบ โดยที่ผ่านมาไทยร่วมกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นมาเป็นระยะ โดยที่ผ่านมาสำเร็จทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

 

ขณะที่ภาคธุรกิจตระหนักปัญหาโลกร้อน ในการตั้ง “ไทยแลนด์ นิวทรัล เนตเวิร์ค” เป็นเครือข่ายที่ตั้งเมื่อ ก.ค.2565 ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 203 หน่วยงาน มีองค์กรบริหารโครงการ 15 หน่วย เมื่อธุรกิจใหญ่เป็นตัวนำเริ่มปรับ คู่ค้าที่เกี่ยวเนื่องต้องขยับตาม และขยายสู่ธุรกิจวงกว้างเพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ

 

ด้านนางธันยพร กริชติทายาวุธผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) กล่าวว่า สมาคมฯเป็นเครือข่ายในประเทศไทย เชื่อมโยงกับอีก 143 ประเทศทั่วโลก เป็นเครือข่ายองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจปัญหาโลกร้อนแก่ภาคธุรกิจ ที่นับวันปัญหาจะรุนแรงขึ้น จากการขยายตัวการค้าโลกถึง 10 เท่าใน 50 ปีนี้ เท่ากับเราใช้ทรัพยากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เร่งโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจก 7 ชนิดเพิ่มขึ้น ที่โลกรวนเพราะทรัพยากรร่อยหรอและใช้เลอะเทอะ
 

“ผู้นำธุรกิจเห็นปัญหา แต่ไม่มั่นใจว่าจะแก้ไขได้ เพราะการลดการใช้ทรัพยากรต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ แต่ถ้าใครไม่ลงมือปรับก่อน ปล่อยไป 5-8 ปี ขณะที่คนอื่นปรับตัว ถึงตอนนั้นจะมาปรับมีต้นทุนสูงมากกว่าเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ และยังอาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจอย่างถาวร จึงต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพที่สุด”

หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,767 วันที่ 20-23 มีนาคม พ.ศ.2565