โควิด-19ระบาดดันตลาดส่งออกน้ำผลไม้ไทยพุ่ง

16 มี.ค. 2565 | 12:01 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2565 | 19:08 น.
1.4 k

โควิด-19ระบาดดันตลาดส่งออกน้ำผลไม้ไทยพุ่ง สนค.ชี้แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคยังมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีการเสริมวิตามินและภูมิคุ้มกัน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกสินค้าน้ำผลไม้ พบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสุขภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้นน้ำผลไม้จึงเป็นสินค้าหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกบริโภคเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและภูมิคุ้มกัน โดยผู้ประกอบการต่างชูจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่มีการเสริมวิตามินและคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับแนวโน้มผู้บริโภคปัจจุบัน จะให้ความสนใจเกี่ยวกับการลดปริมาณน้ำตาล มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและจริยธรรม รวมทั้งกระบวนการผลิตที่ต้องมีความยั่งยืน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

ทั้งนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำผลไม้อันดับที่ 8 ของโลก  ปี 2564 ไทยส่งออกน้ำผลไม้มูลค่า 640.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 20,189.03 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 14.31   และจากฐานข้อมูลบริษัทมินเทล (Mintel) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก

โควิด-19ระบาดดันตลาดส่งออกน้ำผลไม้ไทยพุ่ง

ได้ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ที่วางจำหน่ายทั่วโลก ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (ปี 2555 - 2564) พบว่าผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ที่ผลิตจากไทย มีการวางจำหน่ายมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีจำนวน 3,190 รายการ คิดเป็นร้อยละ 4.2 รองจากจีน ที่มีสินค้าน้ำผลไม้วางจำหน่ายมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก มีจำนวน 3,628 รายการ คิดเป็นร้อยละ 4.78 และอันดับ 3 คือ บราซิล จำนวน 2,839 รายการ คิดเป็นร้อยละ 3.74

โควิด-19ระบาดดันตลาดส่งออกน้ำผลไม้ไทยพุ่ง

ทั้งนี้ตลาดส่งออกน้ำผลไม้ไทยที่สำคัญของไทย 3 อันดับแรก พบว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำผลไม้อันดับ 1 ของโลก เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยมาตลอด และมีแนวโน้มเป็นตลาดส่งออกน้ำผลไม้อันดับ 1 ของไทยต่อไป โดยไทยมีสัดส่วนการส่งออกน้ำผลไม้ไปตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูง ในปี 2564 ไทยมีการส่งออกน้ำผลไม้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 266.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.6 ของมูลค่าการส่งออกน้ำผลไม้ทั้งหมดของไทย

โดยแนวโน้มตลาดน้ำผลไม้ในสหรัฐฯ มีความนิยมบริโภคน้ำผลไม้ออร์แกนิคเพิ่มขึ้น น้ำผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น มีน้ำตาลหรือแคลอรี่ต่ำ รวมทั้งมีการเติมสารเพิ่มคุณประโยชน์ อาทิ วิตามิน และพรีไบโอติก ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ต้องการดื่มน้ำผลไม้เพื่อช่วยดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพในอนาคต และให้ความสำคัญกับคุณภาพของส่วนผสมในน้ำผลไม้เป็นอย่างมาก

โควิด-19ระบาดดันตลาดส่งออกน้ำผลไม้ไทยพุ่ง

ตลาดจีน ในปี 2564 ไทยส่งออกน้ำผลไม้ไปจีนเป็นมูลค่า 48.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.5 ทั้งนี้ ตลาดจีนเริ่มกลายมาเป็นตลาดส่งออกน้ำผลไม้ที่สำคัญของไทย ตั้งแต่ปี 2560 (ในปี 2560 จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 4 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4) และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปตลาดจีนขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มตลาดน้ำผลไม้ในจีน นิยมน้ำผลไม้ที่มีความเข้มข้นสูง เน้นวิตามินและแร่ธาตุที่สกัดจากผลไม้โดยตรง ไม่เติมสารให้ความหวาน สี หรือสารกันบูด และนิยมซื้อน้ำผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น

และตลาดเนเธอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกน้ำผลไม้ที่สำคัญอันดับ 3 ของไทย มีมูลค่าส่งออก 36.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับประเทศคู่แข่งของไทยที่มีแนวโน้มการส่งออกในตลาดเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งออกน้ำผลไม้ประเภทเดียวกับไทย คือ น้ำสับปะรด) และน้ำผลไม้อื่นๆ โดยแนวโน้มตลาดน้ำผลไม้ในเนเธอร์แลนด์ ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลในน้ำผลไม้เป็นอย่างมาก และให้ความสนใจความสดใหม่ของน้ำผลไม้มากกว่าคำกล่าวอ้างด้านสุขภาพ

โควิด-19ระบาดดันตลาดส่งออกน้ำผลไม้ไทยพุ่ง

“น้ำผลไม้เป็นสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของไทย ที่มีแนวโน้มดีและสามารถขยายมูลค่าการส่งออกได้ และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย รวมทั้งเกษตรกร ควรมีส่วนร่วมในการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตน้ำผลไม้ที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรม รวมทั้งเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนติดตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดสำคัญของไทย รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีน้ำตาล มาตรฐานฉลากคาร์บอน การตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและแบรนด์น้ำผลไม้ไทยสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ปรับปรุงรสชาติและเนื้อสัมผัส ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดส่งออกสำคัญได้"