มทร.ล้านนาเอ็มโอยู มจพ. โมเดลสู่แถวหน้าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยียุคดิจิทัล

05 มี.ค. 2565 | 18:27 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2565 | 01:34 น.

 มทร.ล้านนา ลงนามเอ็มโอยู มจพ. ร่วมกันพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มจพ.เป็นต้นแบบ พัฒนาศักยภาพอาชีวศึกษา-สายวิชาชีพ  มุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในยุคดิจิทัล

วันที่ 4 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ  เซี่ยงฉิน อธิการบดี  มจพ.

 

เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ทั้งสายวิชาการ ทางด้านการสอน การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม รวมถึงระบบงานสายสนับสนุน  ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ. 

มทร.ล้านนาเอ็มโอยู มจพ. โมเดลสู่แถวหน้าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยียุคดิจิทัล

มทร.ล้านนาเอ็มโอยู มจพ. โมเดลสู่แถวหน้าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยียุคดิจิทัล

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ  เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการร่วมกัน ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม และบุคลากรของสองมหาวิทยาลัย มจพ.เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในทุกด้าน เรามีบุคลากรที่มีความความเชี่ยวชาญ มีความเข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถ 

 

"ต้องขอบคุณ มทร.ล้านนาที่เล็งเห็นศักยภาพของมจพ. ที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ เรามีความยินดีที่จะร่วมสนับสนุน มทร.ล้านนาในทุกๆด้าน เพราะเรามีเป้าหมายเดียวในความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการสร้างเครือข่ายทางการศึกษา สร้างครอบครัววิชาการให้ใหญ่ขึ้นและจะมีกำลังในการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น”         

มทร.ล้านนาเอ็มโอยู มจพ. โมเดลสู่แถวหน้าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยียุคดิจิทัล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา หาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้สืบเนื่องจากที่ มทร.ล้านนา ได้มีโอกาสศึกษาดูงานด้านการจัดการศึกษา และการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ในหลายด้าน

 

อาทิ การพัฒนากำลังคนของ มทร.ล้านนา ด้วยการเพิ่มคุณวุฒิปริญญาโท-เอก ภายใต้ความร่วมมือ TGGS  และ Thai-French Center การสร้าง platform การส่งผ่านและขยายผลนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Innovation & technology diffusion) หรือภายใต้โปรแกรม Offshore Center 

 

โดยการทำงานร่วมกันของนักวิจัย มจพ.และ มทร.ล้านนา ความร่วมมือเครือข่ายการปฏิรูปและพลิกโฉมประเทศร่วม ภายใต้โครงการเทคโนโลยีอากาศ ระบบราง และ Automation and robotic ยานยนต์ไฟฟ้า AEV และรวมถึงการพัฒนากำลังคนสายสนับสนุนในกองและสถาบัน แบบแม่ไก่ลูกไก่ เพื่อสร้างสายสนับสนุนพันธุ์ใหม่ งานวิจัย งานบริการวิชาการงานกฎหมาย งานพัฒนาทักษะ งานดูแลภาพลักษณ์องค์กร 

 

ซึ่งการลงนามความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการของมทร. ล้านนา ให้ก้าวสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมที่จะตอบโจทย์ภาคผลิตและภาคสังคมซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต

 

ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า “มทร.ล้านนา เราได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ มจพ.ในทุก ๆ ด้าน และเรายึดถือ มพจ.เป็นโมเดลต้นแบบ ในการพัฒนามหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรามีความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาศักยภาพของอาชีวศึกษา พัฒนาหลักสูตรในสายอาชีพ ซึ่ง มจพ.จะร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้เราได้เติบโต และเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของสังคม ชุมชน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นในเขตภาคเหนือ ในนามของมหาวิทยาลัยต้องขอขอบคุณ มจพ.ที่ได้ให้โอกาส และสนับสนุนให้เกิดนวัตรรมใหม่ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศต่อไป"