อ.ส.ค.จับมือมทร.ล้านนาขยายร้านขายนมไทย-เดนมาร์ค

05 มิ.ย. 2560 | 15:32 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2560 | 22:37 น.
857
อ.ส.ค.เซ็นเอ็มโอยู มทร.ล้านนา ร่วมมือสร้างผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค เปิดตัว “มิลค์ช็อป” ต้นแบบนำร่องที่ ร.ร.มงฟอร์ดวิทยาลัย ปีนี้ตั้งเป้าขยายผลสู่ 3 โรงเรียนและศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ มุ่งส่งเสริมเด็กนักเรียนดื่มนมเพิ่มขึ้น

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า อ.ส.ค.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค หรือไทย-เดนมาร์คมิลค์ช็อป (Thai-Denmark Milk Shop) ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมุ่งส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีความพร้อมตามนโยบายรัฐบาล ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเครือข่ายธุรกิจและวิสาหกิจแบบบูรณาการในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs  และให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของ อ.ส.ค.ที่ก้าวสู่การเป็นนมแห่งชาติภายในปี2564

เบื้องต้นโครงการฯได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความพร้อมเปิดร้าน Thai-Denmark Milk Shop ต้นแบบนำร่องแห่งแรกที่โรงเรียนมงฟอร์ดวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ประกอบการร้านฯดังกล่าว จะนำน้ำนมโคสดแท้100% จากโรงงานนม อ.ส.ค.เชียงใหม่ ซึ่งมาจากฟาร์มโคนมของสหกรณ์เครือข่าย อ.ส.ค. ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมที่มีความหลากหลายและเหมาะกับเด็กนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย เน้นสินค้าที่มีน้ำนมเป็นส่วนประกอบ เช่น นมร้อน นมเย็น นมปั่น ชานมสด ช็อคโกแลตร้อนนมสด น้ำนมสดผสมผลไม้ต่างๆ เค้กนม และมีอีกหลายเมนูให้เลือก นอกจากนั้น ร้าน Thai-Denmark Milk Shop ยังจะนำผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค อาทิ นมยู.เอช.ที. นมพาสเจอร์ไรส์ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม โยเกิร์ต และไอศกรีมไปจำหน่ายด้วย ขณะนี้ร้านฯต้นแบบได้ก่อสร้างและตกแต่งเสร็จเรียบร้อย และทดลองเปิดจำหน่ายแล้ว  ผลปรากฏว่า ได้รับการตอบจากนักเรียนดีมาก

milk

อย่างไรก็ตาม ปี 2560 นี้ โครงการฯได้ตั้งเป้าขยายผลร้าน Thai-Denmark Milk Shop ไปสู่สถาบันการศึกษา ส่วนราชการ และโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือไม่น้อยกว่า 6-8 แห่ง อาทิ โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย โรงเรียนวชิรวิทย์ และศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากจะพัฒนาศักยภาพและสร้างผู้ประกอบการใหม่แล้ว ยังคาดว่า จะช่วยรณรงค์ส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กนักเรียนดื่มนมที่มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันจะนำไปสู่การเพิ่มอัตราการบริโภคนมภายในประเทศมากขึ้นจากเดิม 14 ลิตร/คน/ปี เป็น 20 ลิตร/คน/ปี ทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ อ.ส.ค.เติบโตอย่างมีศักยภาพอย่างต่อเนื่องด้วย