“อุตตม”ชี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ต้องมีความเชื่อมั่น-ชุดมาตรการที่มีพลัง

22 ก.พ. 2565 | 11:44 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2565 | 18:56 น.

“อุตตม”วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย จะฟื้นได้ทุกฝ่ายต้องมีความเชื่อมั่น และมีชุดมาตรการที่มีพลังมากพอในการฉุดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

 

ช่วง 2-3 วันมานี้ มีรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ เผยแพร่โดยองค์กรภาครัฐ และภาควิชาการ ออกมาหลายชิ้น ซึ่งผมขอหยิบยกมาร่วมวิเคราะห์กับทุกท่าน โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2565 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้เผยแพร่สรุปภาวะเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญ คือ เศรษฐกิจปี 2564 มีการขยายตัวร้อยละ 1.6 หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวไปถึงร้อยละ 6.2 ในปี 2563 สำหรับปี 2565 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 3.5-4.5


ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ จะเกิดขึ้นตามประมาณการณ์จริงหรือไม่ ย่อมขึ้นกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งสภาพัฒน์อ้างถึงปัจจัยสนับสนุนการเติบโต ได้แก่ ภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุน  แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด ซึ่งล่าสุดก็ถูกยกระดับการเตือนภัยทั่วประเทศขึ้นสู่ระดับ 4 แล้ว

ในมุมมองของผมแล้ว ตัวเลขคาดการณ์ เป็นประโยชน์ในการมองภาพรวมของเศรษฐกิจ แต่ในภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนกำลังเผชิญในปัจจุบัน หัวใจของการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้เป็นปกติ ทั้งในแต่ละภาคส่วนต่างๆ และภาพรวมนั้น ขึ้นยู่กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

 

โดยเฉพาะกิจกรรมที่ถูกออกแบบให้สามารถผลักดันเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต และอื่นๆ ให้สามารถพลิกฟื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ในเวลาที่เศรษฐกิจมีปัญหามากเช่นปัจจุบัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น มักมีที่มาจากนโยบายและมาตรการของภาครัฐ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนความร่วมมือในภาคเอกชนด้วยกันเอง

 

ถึงตรงนี้ ผมขอหยิบยกข้อมูลที่น่าสนใจอีกชิ้นมาประกอบการวิเคราะห์ เป็นข้อมูลของสวนดุสิตโพล ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบัน มาตรภาครัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภค เป็นประโยชน์ในระดับหนึ่ง 

 

อย่างไรก็ตาม ผลโพลชี้ว่า ประชาชนยังอยากเห็นมาตรการเพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการที่จะสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ใหม่ รวมถึงการลดค่าครองชีพ และมาตรการควบคุมราคาสินค้า

 

จากวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมาในอดีต เราเห็นได้ว่า มาตรการที่จะสร้างงานใหม่ สร้างรายได้นั้น ต้องเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน มิใช่มาตรการเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง และต้องครอบคลุ่มยึดโยงภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ เช่น มาตรการสำหรับภาคบริการ การเกษตร การผลิต หรือแม้กระทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ จึงจะเป็นชุดมาตรการที่มีพลังเพียงพอ ในการช่วยฉุดให้ระบบเศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะชะงักงัน ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้

 

และที่สำคัญชุดมาตรการที่มีพลังและประสิทธิภาพ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการ นักลงทุน ซึ่งความเชื่อมั่นนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นรากฐานของพลังที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า

 

ขณะที่ขอมูลจาก นิด้าโพล ซึ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกัน ได้สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในมิติทางการเมืองว่า ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจทางการเมือง มีผลโดยตรงต่อความสำเร็จในการนำพาประเทศพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าในปัจจุบัน ซึ่งประเด็นนี้สามารถเข้าใจได้ครับว่า หากปราศจากความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อภาคการเมืองแล้ว ไม่ว่ามาตรการใดๆ ที่ออกมา ก็จะไม่สามารถส่งผลในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ย่างมีประสิทธิภาพ

 

แม้ปัญหาที่พวกเราคนไทยกำลังเผชิญในปัจจุบัน จะเป็นความท้าทายที่มีผลกระทบรุนแรง ในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ผมยังมีความเชื่อมั่นว่า หากภาคการเมือง ภาครัฐและเอกชน เปิดใจรับฟังซึ้งกันและกัน และช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในวงกว้าง ทั้งจากภาคประชาชน ผู้ประกอบการ นักลงทุน ซึ่งจะเป็นพลังหลักในการที่เราจะสามารถแก้ปัญหา และช่วยกันนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

 

ขอบคุณครับ

 

#สร้างอนาคตไทย