เช็คมติ ครม.ไฟเขียว 23 จังหวัดใช้แนวเขตทะเลชายฝั่งใหม่ ลดปัญหาประมงทับซ้อน

15 ก.พ. 2565 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2565 | 23:29 น.

ครม. ผ่านร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง 23 จังหวัด ใช้แนวเขตใหม่เป็นเส้นตรงลากผ่านจุดพิกัด ลดปัญหาพื้นที่ประมงทับซ้อน

15 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง แยกเป็นรายจังหวัด 23 จังหวัด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อให้ทราบถึงเขตทะเลชายฝั่งที่ชัดเจนและสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการลดความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์

 

อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่งให้อยู่ในภาวะที่สมดุลสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

 

สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งแยกเป็นรายจังหวัด 23 จังหวัด ได้แก่

  • กระบี่
  • ชลบุรี
  • ตรัง
  • ตราด
  • พังงา
  • ภูเก็ต
  • ระนอง
  • สตูล
  • สุราษฎร์ธานี
  • จันทบุรี
  • ระยอง
  • ฉะเชิงเทรา
  • สมุทรปราการ
  • สมุทรสาคร
  • สมุทรสงคราม
  • เพชรบุรี
  • ประจวบคีรีขันธ์
  • ชุมพร
  • นครศรีธรรมราช
  • สงขลา
  • ปัตตานี
  • นราธิวาส
  • กรุงเทพมหานคร

โดยกำหนดระยะแนวเขตทะเลชายฝั่งเป็น "เส้นตรงลากผ่านจุดพิกัด" จากเดิมที่กำหนดเป็น "เส้นโค้งเว้า"

 

ทั้งนี้ ในกรณีที่เขตทะเลชายฝั่งทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าหรือเขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามกฎหมายอื่นใด การทำการประมงหรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่งนั้นต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดด้วย

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ.2560 กฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 และกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563

 

เนื่องจากกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2560 เป็นการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งของ 9 จังหวัดเป็นเส้นโค้งเว้า ซึ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและเป็นปัญหาสำหรับชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย และได้มีการปรับปรุงแนวเขตทะเลชายฝั่งและแผนที่ทะเลชายฝั่งใหม่เฉพาะจังหวัดตราดและชลบุรี โดยออกเป็นกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2563 แต่ยังไม่ครอบคลุมจังหวัดอื่นที่ติดทะเล จึงมีความจำเป็นต้องยกเลิกร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว

 

นางสาวรัชดา รองโฆษกรัฐบาลกล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากจังหวัดตราด ระนอง สตูล และนราธิวาส มีเขตแดนและเขตทางทะเล ประชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประชุมจึงให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องของค่าพิกัดและแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดแนบท้ายกฎกระทรวงของจังหวัดดังกล่าวกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือด้วย