"เชียงใหม่เมืองไมซ์"แกร่ง สสปน.ให้ผ่านประเมินทบทวน

10 ก.พ. 2565 | 14:58 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2565 | 22:09 น.

สสปน. เผย จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการประเมินและเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ ที่คะแนน 4.48 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ด้วยมีจุดแข็งด้านการจัดประชุม แสดงสินค้า และนิทรรศการในทุกมิติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและขับเคลื่อนอุตสาหกรรม MICE จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2565 
    

 

โดยที่ประชุม สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ได้รายงานผลการประเมินเมืองไมซ์ซิตี้ จังหวัดเชียงใหม่ว่า คณะกรรมการประเมินเมืองไมซ์ซิตี้ ได้ดำเนินการตรวจประเมินผลเรียบร้อยแล้ว ตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ 

\"เชียงใหม่เมืองไมซ์\"แกร่ง สสปน.ให้ผ่านประเมินทบทวน

\"เชียงใหม่เมืองไมซ์\"แกร่ง สสปน.ให้ผ่านประเมินทบทวน

คณะกรรมการฯ ได้มีมติรับรองให้จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการประเมินและเป็นไมซ์ซิตี้ ด้วยคะแนน 4.48 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน โดยมีจุดแข็ง 7 ด้าน ประกอบด้วย 

 

1.การสนับสนุนและให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดงานไมซ์ประชาชน งานไมซ์หลายด้านจากสถาบันการศึกษา รวมถึงมีความเป็นเลิศด้านไมซ์ และการให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรมไมซ์ 

2.มีสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับไมซ์ มีผลงานวิจัยและการฝึกอบรมด้านไมซ์ 

3.มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายประเภทที่โดดเด่น ทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ 

4.มีสถานที่จัดงานพิเศษที่มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ 

5.มีสถานที่จัดงานแสดงสินค้า นิทรรศการ และสถานที่จัดประชุมขนาดใหญ่ 

6.มีโครงสร้างพื้นฐานภายในเมือง และบริเวณโดยรอบที่เอื้ออำนวยต่อการจัดงานไมซ์ และ 

7.มีประสบการณ์ในการจัดงานไมซ์ระดับนานาชาติ 

 

สำหรับ 9 โครงการไมซ์ ปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย
    1. โครงการทำตลาด การประชาสัมพันธ์ การสร้างเครือข่ายธุรกิจ และแสดงศักยภาพไมซ์ซิตี้ผ่านการเข้าร่วมงานTradeshow/Roadshow ภูมิภาคเหนือ
    2. โครงการยกระดับความพร้อมพื้นที่ชุมชนเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มไมซ์ (ไมซ์เพื่อชุมชน)
    3. โครงการยกระดับงานเด่นไมซ์ชิตี้ (Flagship Events) ภาคเหนือ
    4. โครงการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสินค้าชุมชน: World Tea and Coffee Expo
    5. โครงการสนับสนุนการจัดงานไมซ์ภายในและต่างประเทศ
    6. โครงการตรวจประเมินสถานที่จัดงาน TMVS
    7. โครงการอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาความรู้หลักสูตรไทยและสากล    
    8. โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไมซ์ใหม่ ภายใต้รูปแบบกิจกรรม 7 Themes
    9. โครงการกิจกรรม FAM Trip เพื่อประชาสัมพันธ์พื้นที่

 

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่ยังคงมีข้อจำกัดในบางประการ ทั้งข้อจำกัดด้านเที่ยวบินเพื่อการพาณิชย์ในการเดินทางระหว่างประเทศนอกทวีปเอเชีย  การขาดระบบขนส่งทางรางที่ทันสมัย  ความปลอดภัยของโรงแรม รีสอร์ท และสถานที่จัดงานยังมีไม่ครบถ้วน เช่น การซ้อมปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงรางวัลที่เกี่ยวข้องด้านอาหารของโรงแรม รีสอร์ท และสถานที่จัดงาน ยังไม่ครบถ้วน และยังขาดความต่อเนื่องในการขอรับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง 

 

ทั้งนี้ การรับรองดังกล่าว ได้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา  และจะมีผลเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับการรับรอง

 

จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านไมซ์ (MICE) กับ สสปน. และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น MICE City หรือ เมืองแห่งการประชุมและนิทรรศการ มาตั้งแต่ปี 2552 โดยได้มีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม MICE มาอย่างต่อเนื่อง  ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม MICE ปี 2561-2564  

 

และในปี 2564 นี้  ทาง สสปน. ได้มีการทบทวนเกณฑ์ความพร้อม  เพื่อเสริมมาตรฐานการเป็นเมืองแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการให้ทันต่อยุคสมัย และมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น กระทั่งผ่านการประเมินตามเกณฑ์ทบทวนในท้ายที่สุดดังกล่าว