MICE อ่วมแสนล้าน ทีเส็บชี้ลากยาวฟื้นปี 66

31 ม.ค. 2564 | 02:00 น.
2.3 k

 อุตสาหกรรมไมซ์ไทยอ่วมโควิด-19 รายได้ปี 63 ลดฮวบร่วม 1 แสนล้านบาท ขณะที่การระบาดระลอกใหม่ ฉุดเป้าหมายสร้างรายได้ 6.4 หมื่นล้านบาทสะเทือน ทีเส็บ ประเมินกว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี ล่าสุดผนึก 13 องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง สกัดโครงการลดผลกระทบ ภายใต้เป้าหมายการถูกเลิกจ้างให้น้อยที่สุด พร้อมแผนกระตุ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย ดึง 15 งานระดับนานาชาติเข้าไทยช่วงปี 66-68



อุตสาหกรรมไมซ์ หรือ MICE (ประชุม สัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า) จัดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งก่อนเกิดโควิด ประเทศไทยจะมีรายได้จากนักเดินทาง กลุ่มไมซ์ทั้งจากต่างชาติ และในประเทศอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาทต่อปี (ปีงบประมาณ 62) แต่ในปีงบประมาณ 63 ไทยมีรายได้จากไมซ์อยู่ที่ 6.27 หมื่นล้านบาทลดฮวบไปกว่า 1.37 แสนล้านบาท
 

อีกทั้งจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่กระจายวงกว้างทั่วประเทศ แม้มีแนวโน้มดีขึ้น ควบคุมได้ แต่ยังคงอยู่ในระยะยาว จากสถานการณ์ที่ยังมีความเปราะบาง มีความไม่แน่นอนสูง เช่น การระบาดรอบใหม่/เชื้อกลายพันธุ์ รวมถึงปัจจัยเรื่องของการเริ่มฉีดวัคซีน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อเป้าหมายการสร้างรายได้ของอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ 64 ราว 6.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งความท้าทายอย่างมาก
 

ทั้งนี้จากการแพร่ระบาดของไวรัสระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การจัดงานด้านไมซ์ภายในประเทศช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.64) มีการยกเลิก และเลื่อนการจัดงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 งานทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นการจัดประชุมสัมมนา ที่เกิน 200 คน ในจำนวนนี้เป็นงานคอนเฟอร์เร้นท์ขนาดใหญ่กว่า 20 งาน ส่วนการจัดงานขนาดเล็กกว่านั้นก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานมาเป็นแบบออนไลน์แทน ขณะที่การเดินทาง
ระหว่างประเทศ (นักเดินทางด้านไมซ์จากต่างประเทศ) ยังไม่สามารถดำเนินการได้

 

MICE อ่วมแสนล้าน ทีเส็บชี้ลากยาวฟื้นปี 66
 

 

3 ปีธุรกิจไมซ์ฟื้น 
 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)หรือ ทีเส็บ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าจากการประเมินของทีเส็บ คาดว่ากว่าอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับปี 62 ต้องใช้เวลาอีก 3 ปี ดังนั้นสิ่งที่ทีเส็บ ต้องดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะเน้นใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่
 

เรื่องแรก คือ การลดผลกระทบจากโควิดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งล่าสุดผมได้จัดประชุมร่วมกันสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมไมซ์ รวมกว่า 13 องค์กรด้านไมซ์ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้ไปกลับไปจัดทำโครงการขึ้นมาเสนอภายใต้กรอบแนวทางใน 2 แนวคิดหลัก คือ 1. ทำอย่างไรที่จะทำให้คนถูกเลิกจ้างน้อยที่สุด และ 2.ขอให้นำเสนอโครงการที่เอกชนมองว่าจะสามารถกระตุ้นตลาดไมซ์ได้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
 

“เราอยากรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอที่น่าสนใจมาเสริมกับแผนงานที่ทีเส็บมีอยู่ เพื่อให้ได้การทำงานที่เดินหน้าได้อย่างสมบูรณ์ จากการรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราให้เวลาเอกชนเสนอแผนเข้ามาภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นทีเส็บจะผลักดันการโครงการที่จะเป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้น ผ่าน 2 แนวทาง คือ 1.การปรับงบประมาณของทีเส็บเพื่อนำมาสนับสนุนโครงการ และ 2. การนำเสนอรัฐบาลเพื่อผลักดันการใช้งบในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท”
 

สำหรับรูปแบบการส่งเสริมตลาดไมซ์ ท่ามกลางโควิด-19 ด้วยความที่นักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างชาติ มีข้อจำกัดในการเดินทางเข้าไทย สิ่งที่เราทำได้ในปีนี้ คือ การร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และทางอีอีซี อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเดินทางเข้าไทยได้

 

โดยนักลงทุนต่างชาติ จะเข้ามาได้ต้องผ่านความเห็นชอบจากศบค.ก่อน ที่แม้ไม่ต้องถูกกักตัว 14 วันเพราะมาทำงานในไทยไม่กี่วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยบริษัทที่ดูแลบริการการเดินทางหรือ DMC ที่ได้รับการอบรมมาโดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมาเดินทางเข้ามาแล้ว 4 กรุ๊ป เป็นกรุ๊ปเล็กๆ ที่สูงสุดก็อยู่ที่ 8 คน เพราะเป็นนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย การเดินทางเข้าไทยก็จะเดินทางด้วยเครื่องบินไพเวทเจ็ทเข้าไทย ใช้โรงแรมหรู การเดินทางไปโรงงานก็จะใช้เฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว พนักงานที่พบปะหรือเจรจาธุรกิจด้วย ก็มีเฉพาะเจาะจงไม่กี่คน และคนที่พบปะนักลงทุนต่างชาติ ก็ต้องตรวจหาเชื้อโควิดและกักตัว 14 วัน ซึ่งที่ผ่านมาผลออกมาดี ไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19
 
 

 

ดึง 15 งานอินเตอร์เข้าไทย
 

รวมถึงการกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ แต่เบื้องต้นคงจะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในพื้นที่สีเหลือง (พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง) และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน และเมื่อจังหวัดในพื้นที่สีแดง มีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ การส่งเสริมตลาดไมซ์ก็น่าจะเริ่มเดินต่อได้ ซึ่งก็ต้องรอเวลาสักระยะ โดยโฟกัสทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่พำนักในไทย
 

การทำงานของทีเส็บ เรามองข้ามช็อตไปถึงปี 65 ซึ่งถึงช่วงนั้นการเดินทางของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างชาติ น่าจะทยอยขยับตัวได้ ทีเส็บ ก็น่าจะบุกตลาดต่างประเทศได้อย่างจริงจัง รวมไปถึงขณะนี้เราให้ความสำคัญกับการประมูลการจัดงานระดับนานาชาติให้เข้ามาจัดในไทย โดยทีเส็บได้ร่วมมือกับอีอีซีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดึงงานด้านโลจิสติกส์ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งานที่เกี่ยวเนื่องกับอีอีซี รวมกว่า 15 งานเข้ามาจัดในไทยช่วงปี66-68 รวมถึงดึงงานใหม่อย่างแอร์โชว์ เข้ามาจัดในพื้นที่อีอีซี ในปี 68

 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.ไฟเขียวขยายเวลามาตรการภาษี หนุนจัดสัมมนาในปท.ถึง 30 ก.ย.64

หอการค้าไทยชง 6 เรื่องใหญ่ จี้รัฐฟื้นเที่ยวไทยสู้โควิด

โควิด ระลอกใหม่ ท่องเที่ยววิกฤติ หลายธุรกิจ ยังเดินได้