กรมเชื้อเพลิงฯเปิดขอสิทธิสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ดึงลงทุน 1.5 พันล.

09 ก.พ. 2565 | 13:08 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2565 | 20:08 น.

กรมเชื้อเพลิงฯเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ 3 แปลง คาดดึงลงทุน 1.5 พันล้านบาท เพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ และทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2565 นี้ กรมฯ มีแผนในการเตรียมเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 จำนวน 3 แปลงในทะเลอ่าวไทย ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ประกอบด้วย 

 

  • แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 มีพื้นที่รวม 8,487.20 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ A จำนวน 8,298.49 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ B จำนวน 188.71 ตารางกิโลเมตร

 

  • แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 มีพื้นที่รวม 15,030.14 ตารางกิโลเมตร 

 

  • แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G3/65 มีพื้นที่รวม 11,646.67 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ A จำนวน 11,028.22 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ B จำนวน 618.45 ตารางกิโลเมตร

สำหรับการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านของแปลง G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณนั้น กรมฯ ได้ประสานการเจรจาระหว่างบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทานรายเดิม

 

และบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี ในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) มาโดยตลอด ในเรื่องการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) 

 

 

แนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 65

 

 

ซึ่งมีรายละเอียดทั้งการเข้าพื้นที่ของแหล่งเอราวัณก่อนจะสิ้นอายุสัมปทาน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริหารพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

 

“ในส่วนของการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ในทะเลอ่าวไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการออกประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิฯ ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคาดหวังว่าพื้นที่แปลงสำรวจและผลิตดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ปัจจุบันจะเริ่มมีปริมาณน้อยลงไปเรื่อย ๆ"

ขณะเดียวกันเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คาดว่าการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ ครั้งนี้ จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ และทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ 

 

ส่วนในด้านการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลง G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณนั้น ปัจจุบัน บริษัท ปตท.สผ. อีดี และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในโครงการแปลง G1/61 เดินหน้าต่อไป 

 

โดยหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  บริษัทผู้รับสัมปทานรายเดิม และคู่สัญญารายใหม่จะดำเนินการเข้าตรวจสอบการผลิตก๊าซธรรมชาติในแปลงดังกล่าว เพื่อวางแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติต่อไปหลังจากสิ้นสุดสัมปทานในเดือนเมษายน 2565 

 

อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยใช้ระบบ PSC ในการบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ ซึ่งนับเป็นความท้าทายของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในการดำเนินงาน

 

โดยกรมฯ ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านการปรับโครงสร้างหน่วยงาน ด้วยการตั้งกองบริหารสัญญา และบรรจุบุคลากรเพิ่ม เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าวด้วย 

 

นอกจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในอนาคต เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ 

 

โดยการร่วมมือกับบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มทำการศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี   ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการประกอบกิจการต่าง ๆ  เช่น

 

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ลงไปเก็บในชั้นหินใต้ดินในระดับความลึกที่มีความเหมาะสมในการกักเก็บ CO2 อย่างปลอดภัย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการปล่อย CO2 ในปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดได้

 

ในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐในรูปแบบค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย และรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าตอบแทน การต่อระยะเวลาผลิต ได้จำนวน 53,637 ล้านบาท ในส่วนของภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง เป็นจำนวน 49,948 ล้านบาท