สทนช.เร่งตั้งกรรมการ 22 ลุ่มน้ำ ย้ำ “ภาคเกษตร”ได้ยกเว้นค่าน้ำสาธารณะ

08 ก.พ. 2565 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2565 | 22:34 น.

“สทนช.” เร่งตั้งกรรมการลุ่มน้ำประจำ 22 ลุ่มน้ำทำหน้าที่ร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั่วประเทศ ขณะความก้าวหน้าคำขอจดทะเบียนผู้ใช้น้ำอนุมัติแล้ว 3,238 องค์กร คาดได้ข้อสรุป เม.ย. 65 แง้มแผนจัดเก็บค่าน้ำ “อุตสาหกรรม-พาณิชยกรรมขนาดใหญ่” ก่อน ย้ำภาคเกษตรได้ยกเว้น

 

ดร.สุรสีห์    กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  เผยถึงความคืบหน้าการจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำให้แก่ภาคประชาชนใน 3 ภาค ได้แก่   ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ว่า   ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 เป็นต้นมาถึง ณ  ปัจจุบัน มีองค์กรผู้ใช้น้ำยื่นคำขอจดทะเบียนทั้งสิ้น 3,271 องค์กร พิจารณาอนุมัติแล้ว 3,238 องค์กร ส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม 2,702 องค์กร ภาคอุตสาหกรรม 271 องค์กร ภาคพาณิชยกรรม 265 องค์กร

 

สำหรับการคัดเลือกคณะกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอประกาศแต่งตั้ง สำหรับกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ อยู่ระหว่างการคัดเลือก/สรรหา คาดว่าจะได้ครบทุกองค์ประกอบทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในเดือนมีนาคมนี้ และประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการภายในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นคณะกรรมการจะไปกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าน้ำ ซึ่งจะมีอัตราแตกต่างกันตามประเภทและพื้นที่

 

สทนช.เร่งตั้งกรรมการ 22 ลุ่มน้ำ  ย้ำ “ภาคเกษตร”ได้ยกเว้นค่าน้ำสาธารณะ

 

ทั้งนี้ความเป็นมาของคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำ  เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้มีกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำ โดยมีองค์ประกอบ ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากจังหวัดต่าง ๆ ในเขตลุ่มน้ำ จังหวัดละ 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม ภาคละ 3 คน รวม 9 คน และ กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ จำนวน 4 คน

 

สทนช.เร่งตั้งกรรมการ 22 ลุ่มน้ำ  ย้ำ “ภาคเกษตร”ได้ยกเว้นค่าน้ำสาธารณะ

 

โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง/ภาวะน้ำท่วม การพิจารณาปริมาณการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำ การให้ความเห็นชอบการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 คือ ภาคอุตสาหกรรม  และน้ำประเภทที่  3 คือพาณิชยกรรม ที่ตามพ.ร.บ. กำหนดให้เก็บค่าน้ำ  ขณะที่การใช้น้ำประเภทที่ 1 คือ เพื่อเกษตรกรรมนั้น ไม่มีการจัดเก็บ   

 

 

 

สทนช.เร่งตั้งกรรมการ 22 ลุ่มน้ำ  ย้ำ “ภาคเกษตร”ได้ยกเว้นค่าน้ำสาธารณะ

 

นอกจากนี้คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ ฯ ยังมีหน้าที่การพิจารณาให้ความเห็นแผนงาน โครงการด้านทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ การไกล่เกลี่ย และชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำ ตลอดจนการส่งเสริมและรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ

 

ภาพจาก kaset1009.com

 

“เบื้องต้นจะพิจารณาจัดเก็บอัตราค่าน้ำประเภทที่ 2 และ 3 แน่นอน ส่วนอัตราที่ต้องจ่ายจะเป็นเท่าใดนั้น จะต้องมีคณะกรรมการลุ่มน้ำขึ้นมากำหนดในแต่ละพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน ส่วนการใช้น้ำเพื่อทำเกษตรประเภทที่ 1 ยังไม่มีการพิจารณา ดังนั้น ภายในเดือนเมษายนนี้น่าจะต้องเกิดคณะกรรมการลุ่มน้ำก่อน ซึ่งจะมีผู้แทนรายภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วมมิติใหม่ครั้งนี้”  ดร.สุรสีห์  กล่าว

 

อนึ่ง 22 ลุ่มน้ำภายใต้การบริหารจัดการและจะต้องร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้ใช้น้ำของคณะกรรมการลุ่มน้ำที่จัดตั้งขึ้น ได้แก่   1.ลุ่มน้ำสาละวิน  2.ลุ่มน้ำโขงเหนือ  3. ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ4. ลุ่มน้ำชี  5.ลุ่มน้ำมูล  6.ลุ่มน้ำปิง  7.ลุ่มน้ำยม 8.ลุ่มน้ำวัง9. ลุ่มน้ำน่าน10. ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 11.ลุ่มน้ำสะแกกรัง 12. ลุ่มน้ำป่าสัก  13. ลุ่มน้ำท่าจีน 14. ลุ่มน้ำแม่กลอง 15. ลุ่มน้ำบางปะกง  16. ลุ่มน้ำโตนเลสาบ 17. ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก 18.ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์  19.ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน 20.ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  21. ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างและ 22 ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก  ทั้งหมดเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้ใช้น้ำ