"สุริยะ" ชงนายกฯ ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบน้ำมันรั่วมาบตาพุด-จี้ SPRC เยียวยา

01 ก.พ. 2565 | 18:23 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2565 | 01:24 น.

สุริยะ ชงนายกนายกรัฐมนตรีตั้งอนุกรรมการตรวจสอบน้ำมันรั่วมาบตาพุด พร้อมสั่ง กนอ. เร่งจี้บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เยียวยา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้นำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งจัดตั้งอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่สืบค้นปริมาณการรั่วไหลที่แท้จริง หาสาเหตุของปัญหา

 

และหาวิธีการ/มาตรการการแก้ที่ต้นเหตุแห่งปัญหาอย่างยั่งยืน จากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC 

 

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการดังกล่าวจะประกอบด้วย  ผู้แทนจากชุมชนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจังหวัด ผู้แทนกรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น 
 

สำหรับคณะอนุกรรมการฯ จะมีหน้าที่วิเคราะห์สาเหตุ ตรวจสอบความเหมาะสมของวิธีการและวงรอบในการทำการซ่อมบำรุงระบบต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง และพิจารณาออกกฎระเบียบหรือเสนอกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

 

เมื่อได้ผลสรุปที่เหมาะสม ก็จะนำไปขยายผลรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนำไปพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

ชงนายกรัฐมนตรี ตั้งอนุกรรมการร่วมฯ

 

อย่างไรก็ดี ยังได้สั่งการให้ กนอ.ประสานไปยังผู้บริหารของ SPRC ให้แสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม 

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.ได้สั่งการให้บริษัท SPRC แสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมคือการดูแลโรงงานและโรงกลั่น

 

และการดูแลท่อและทุ่นขนถ่ายน้ำมันในทะเลจะไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กนอ. แต่ กนอ.ก็พยายามมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ 

โดยยึดหลักการของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ระหว่างอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้บริษัทฯ ได้ออกแถลงการณ์ระบุถึงมาตรการด้านการเยียวยาต่างๆ แล้ว ซึ่งทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว 

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับทางจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ในกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลอีกด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลสามารถติดต่อและยื่นเรื่องได้ที่จุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีพบคราบน้ำมัน หรือกรณีพบน้ำมันดิบรั่วไหล

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 (ศคปน.ทรภ.1) ระบุว่า ไม่พบคราบน้ำมันในทะเลตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 30 ม.ค.2565 ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA 

 

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.

 

 

ขณะที่การเก็บกู้ชายหาดนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 90% รวมถึงจัดให้มีสายด่วนเพื่อรับแจ้งกรณีพบคราบต้องสงสัยบริเวณชายหาดเพิ่มเติม ซึ่งจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าไปพิสูจน์และเก็บกู้คราบน้ำมันด้วย

 

อย่างไรก็ตาม กรณีที่สังคมยังสับสนเกี่ยวกับตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมานั้น ขอชี้แจงว่า เป็นการคำนวณปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลจากท่ออ่อนส่งน้ำมันด้านล่าง (Submarine Hose) ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ โดยใช้หลักการทางวิศวกรรม (Pressure Balance) เข้ามาคำนวณว่า มีปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลประมาณ 5 หมื่นลิตร 

 

ส่วนตัวเลขที่มีการเผยแพร่ในวันแรกว่า มีน้ำมันรั่วไหลจากท่อที่ใช้ในการโหลดจากเรือประมาณ 4 แสนลิตรนั้น เป็นตัวเลขที่บริษัทได้ประเมินปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันจากกรณี Worst case หรือในแบบที่เสียหายมากที่สุด จากการกระจายตัวของน้ำมัน แต่เราสามารถระงับเหตุได้ก่อน 

 

ด้านสาเหตุที่ไม่สามารถหาจุดที่น้ำมันดิบรั่วไหลได้ทันทีนั้น เนื่องจากท่อดังกล่าวมีอายุการใช้งานมานาน จึงไม่มีเซ็นเซอร์บอกจุดที่มีการรั่วไหลเหมือนกับท่อรุ่นใหม่

 

"ยืนยันว่า กนอ.ยึดหลักการของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ระหว่างอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลและของ กนอ."