คอนเทนต์ไทยสุดปัง  ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งชื่อดังแห่ซื้อ

01 ก.พ. 2565 | 09:33 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2565 | 16:43 น.

คอนเทนต์ไทยสุดปัง  ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งชื่อดังอย่าง Netflix, WeTV, iQiyi ,VIU แห่ซื้อ ทำเงินสะพัดกว่า 815 ล้านบาท

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นับเป็นครั้งแรกในการดึงผู้ให้บริการสตรีมมิ่งความบันเทิงชื่อดังอย่าง Netflix, WeTV, iQiyi และ VIU เจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทย 15 บริษัท จนสามารถโกยรายได้รวมกว่า 815 ล้านบาท ทั้งนี้ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตามแนวคิด Creative Economy และส่งเสริมให้ไทยเป็น Hub ของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ รวมทั้งกระทรวงได้ดำเนินแผนงานเพื่อสอดรับกับนโยบายส่งเสริม Soft Power ปี 2565

คอนเทนต์ไทยสุดปัง  ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งชื่อดังแห่ซื้อ

 

ให้ไทยไปผงาดได้ในตลาดโลก โดยได้มีการส่งเสริม สร้างเครือข่าย และขยายโอกาสเผยแพร่ผลงานดังกล่าวสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยอีกด้วย

 “ผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยทั้ง 15 บริษัท ได้รับโอกาสในการนำเสนอผลงานและบริการที่น่าสนใจให้กับผู้ให้บริการสตรีมมิ่งความบันเทิงชื่อดัง จนสามารถสร้างรายได้รวมกันกว่า 815 ล้านบาท โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจจากผู้ให้บริการสตรีมมิ่งความบันเทิงมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ คอนเทนต์ทีวีซีรีส์ คอนเทนต์ภาพยนตร์ และคอนเทนต์แอนิเมชั่นซีรีส์ แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีศักยภาพที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญมาจากความสามารถ และผลงานที่โดดเด่นของผู้ประกอบการไทย ที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ในรูปแบบ Online Platform ของผู้บริโภคที่สอดรับยุค New Normal”

 ด้านนายวรฤทธิ์ นิลกลม ผู้บริหารและผู้กำกับ บริษัท ๙ หน้า โปรดักชั่น จำกัด กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากได้เข้าร่วมโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยผลักดันคอนเทนต์และผู้ประกอบการได้มีโอกาสในการขยายธุรกิจให้กว้างมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์เกิดการพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับในระดับโลกอีกด้วย”

 ด้านนายวันเฉลิม ชูตระกูล ผู้บริหารบริษัท Art Combo Studio กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นโอกาสให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ทุกขนาดได้เข้าถึงและนำเสนอผลงานที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับผู้ให้บริการสตรีมมิ่งความบันเทิง ในระดับนานาชาติ ทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้ผลิตได้มีความรู้ความเข้าใจและผลิตผลงานให้ได้ตามมาตรฐานที่ตรงกับความต้องการของตลาดนานาชาติอีกด้วย

 นอกจากการจัดเวทีการเจรจาการค้าแล้ว กระทรวงพาณิชย์ ยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ การขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์สอดรับยุค New Normal การจัดนิทรรศการและการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ รวมไปถึงการจัดกิจกรรม Networking สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างผลงานคุณภาพภายใต้แนวคิด Soft Power ซึ่งมีการผสมผสานเอาเอกลักษณ์ที่สำคัญของไทย เช่น ศิลปะ วัฒนธรรม และอาหารไทยเข้าไปในผลงานอีกด้วย