“คนเลี้ยงหมู ไม่ใช่แพะ” วอนอย่าซ้ำเติมทุกข์เกษตรกร

27 ม.ค. 2565 | 19:06 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 02:18 น.
2.7 k

กันยาพร สดสาย นักวิชาการด้านปศุสัตว์ เขียนบทความเรื่อง “คนเลี้ยงหมู ไม่ใช่แพะ” วอนผู้บริโภคเลิกมองเป็นตัวการทำให้หมูราคาแพง ทั้งที่เป็นผู้ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน

 

เมื่อใดที่เนื้อหมูราคาแพงขึ้น คนเลี้ยงหมูต้องตกเป็นเป้า "กลายเป็นแพะ" ในทันที โดยไม่มีใครเห็นใจหรือมองถึงปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญ ดูง่ายๆอย่างช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกษตรกรทั่วประเทศ ร่วมกันยืนราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่ 110 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อฉีกตัวเองออกจากการเป็นจำเลยของสังคม ว่าเป็นต้นเหตุของสถานการณ์เนื้อหมูราคาแพงอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งที่คนเลี้ยงต่างหากที่เป็นภาคส่วนที่ออกมาช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ในห้วงเวลานี้

 

ยิ่งราคาหมูขุนหน้าฟาร์ม สัปดาห์ล่าสุด (วันพระที่ 25 มกราคม 2565) ตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ทุกภาคต่างปรับราคาลงมากันถ้วนหน้า โดยภาคตะวันตก ราคา 104 บาทต่อกิโลกรัม ภาคตะวันออก 106 บาทต่อกิโลกรัม ภาคอีสาน 108 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนภาคเหนือและภาคใต้ ราคา 110 บาทต่อกิโลกรัม แต่จนแล้วจนรอด ทั้งภาครัฐ พ่อค้าหมู หรือแม้แต่ผู้บริโภค ก็ยังมิวายมองว่าหมูหน้าฟาร์มเป็นตัวการของปัญหาอยู่ดี นี่คือทุกข์ของคนเลี้ยงที่ประสบมาตลอด

 

“คนเลี้ยงหมู ไม่ใช่แพะ” วอนอย่าซ้ำเติมทุกข์เกษตรกร

 

สมาคมฯ ระบุในรายงานข้อมูลสภาวะตลาดหมูว่า ราคาหมูที่ปรับตัวลงนี้ เกษตรกรร่วมกันดำเนินการเพื่อดึงราคาขายปลีกเนื้อหมูไม่ให้สูง ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และยังช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค  ถึงแม้ว่าตอนนี้จะใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่ปกติการบริโภคจะสูงขึ้นก็ตาม แต่คนเลี้ยงเลือกที่จะร่วมกันดูแลด้านค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แม้พวกเขาต้องแบกภาระต้นทุนสูง โดยบางฟาร์มมีต้นทุนพุ่งไปถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม ก็เพราะคนเลี้ยงต้องการให้สังคมเข้าใจและผ่อนคลายสถานการณ์ราคาหมูให้ดีขึ้น

 

ส่วนที่มีกระแสว่ามีการกักตุนเนื้อหมูและชิ้นส่วนในห้องเย็น 13,000-14,000 ตัน ถือว่าสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนอย่างมาก เพราะการเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นเพียงการบริหาร “สินค้าคงคลัง” (Inventory) สำหรับสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งธรรมชาติของสินค้าจากห้องเย็นสู่จุดขายปลีก จะมีการหมุนเวียนเข้า-ออกตลอดเวลา เพราะการเก็บแม้อยู่ในห้องเย็นก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องอายุการจัดเก็บ ที่สำคัญปริมาณสต็อก 13,000 - 14,000 ตัน ที่ว่านี้ สามารถรองรับการบริโภคทั้งประเทศ ได้เพียง 3-4 วันเท่านั้น จากการบริโภคของทั้งประเทศในปัจจุบันที่ประมาณ 3,500 - 4,000 ตัน

 

“คนเลี้ยงหมู ไม่ใช่แพะ” วอนอย่าซ้ำเติมทุกข์เกษตรกร

 

สำหรับประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการเก็บสต๊อกไว้เพื่อเก็งกำไร นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ ได้ให้ข้อมูลและตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 5 เดือนก่อนหน้านี้ เกษตรกรทั่วประเทศต่างประสบปัญหาภาวะราคาตกต่ำอย่างหนัก จากปริมาณหมูล้นตลาด ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเก็บเนื้อหมูและชิ้นส่วนเข้าไว้ในสต็อก แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากให้แบกรับ และตามปกติแล้วห้องเย็นจะมีการเก็บสต๊อกสินค้าพื้นฐาน เพื่อรอส่งมอบแก่ลูกค้าประจำ หรือนำไปแปรรูปเป็นสินค้าของตนเอง อย่างไรก็ตาม เนื้อหมูเป็นสินค้าที่ไม่สามารถแช่เย็นได้นาน เนื่องจากจะส่งผลต่อคุณภาพและเกิดการเน่าเสีย เพราะฉะนั้น “การกล่าวอ้างว่ามีการเก็บเนื้อหมูเพื่อเก็งกำไร จึงไม่เป็นความจริง”

 

น่าเห็นใจคนเลี้ยงหมูไม่น้อย ที่นอกจากจะขายหมูหน้าฟาร์มได้ที่ราคาเดิมมาตลอด ไม่ได้ปรับราคาขึ้นอย่างที่มีคนพยายามปั่นแล้ว การขายหมูยังเป็นการขายขาดให้พ่อค้าคนกลาง จึงไม่ได้มีผลประโยชน์ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับราคาเนื้อหมูที่ปรับสูงขึ้นก่อนจะถึงมือผู้บริโภค แถมยังออกหน้าช่วยลดราคาหมู เพราะไม่อยากให้มีการฉวยโอกาสปรับเพิ่มราคาขายปลีกเนื้อหมู ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ที่สำคัญเกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงที่พุ่งสูงทั้งหมดโดยไม่เคยมีใครยื่นมือมาช่วย แต่กลับไม่สามารถขายหมูในราคาที่สะท้อนต้นทุนได้ วันนี้ความเข้าใจจากผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือสิ่งที่คนเลี้ยงอยากเห็นที่สุด ขอเพียงมองที่กลไกตลาดเป็นสำคัญ ให้อุปสงค์และอุปทานของตลาดเป็นตัวบ่งชี้ราคาสินค้าอย่างเสรีก็พอ