พื้นที่อันตราย “เจ้าท่า”รับลูก “อธิรัฐ” เร่งตรวจสอบเรือบรรทุกน้ำมันอับปาง

24 ม.ค. 2565 | 15:09 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2565 | 22:17 น.

“อธิรัฐ” สั่ง “เจ้าท่า” เร่งตรวจสอบเรือบรรทุกน้ำมัน “ป.อันดามัน 2” อับปางกลางอ่าวไทย หวั่นกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเล ฟากเจ้าท่า ลงพื้นที่พบคราบน้ำมันดีเซลกระจายตัว เร่งกักเก็บทุ่นน้ำมันจำกัดขอบเขตพื้นที่

นายอธิรัฐ  รัตนเศรษฐ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ได้รับรายงานเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันดีเซล(น้ำมันเขียว) ชื่อเรือ "ป.อันดามัน 2" ซึ่งจอดทอดสมอได้อับปางลงบริเวณอ่าวไทย ห่างจากปากน้ำชุมพรประมาณ 24 ไมล์ทะเล

 

 

 

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้น ทราบว่าเรือ ป.อันดามัน 2 มีนายวายุ หมอยาดี เป็นนายเรือ มีลูกเรือจำนวน 5 นาย ซึ่งทั้งหมดปลอดภัย โดยได้รับการช่วยเหลือจากเรือวีนัส 21  ซึ่งเป็นเรือจอดเพื่อการจ่ายน้ำมันเขียวให้เรือประมง ส่วนสาเหตุการจมเกิดจากมีน้ำเข้าเรือแต่ไม่สามารถสูบออกได้ทัน เนื่องจากมีคลื่นลมแรงเรือ ทำให้เรือจมที่ความลึกประมาณ 50 เมตร และมีน้ำมันในเรือ ประมาณ 5 แสนลิตร เป็นดีเซลน้ำมันเขียว

 

 

 


“ตนได้สั่งการด่วนที่สุดให้กรมเจ้าท่าเร่งดำเนินการตรวจสอบคราบน้ำมันที่พบเป็นน้ำมันชนิดอะไร มีปริมาณเท่าไหร่ ทิศทางการเคลื่อนที่ และมีแผนจะดำเนินการป้องกันและกำจัดอย่างไรหากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งให้ดำเนินการเพิ่มเติม โดยออกคำสั่งงดใช้เรือดังกล่าว และให้เจ้าของเรือดำเนินการกู้เรือโดยด่วน และประกาศแจ้งเตือนให้ชาวเรือระมัดระวังในการเดินเรือ  เพื่อเตรียมพร้อมเรือตรวจการณ์และเรือขจัดคราบน้ำมัน และให้บูรณาการร่วมกับกองทัพเรือในการปฏิบัติตามแผนการขจัดคราบน้ำมัน  รวมทั้งรายงานสถานการณ์และความคืบหน้าให้ทราบอย่างต่อเนื่องและเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของเรือลำอื่นๆ ที่จอดทอดสมออยู่กลางทะเล เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ”

ทั้งนี้จากการประเมินการไหลของกระแสน้ำในช่วง 23-25 ม.ค.2565 พบว่าไหลขึ้นไปทางด้านทิศเหนือเข้าเลียบชายฝั่ง จึงคาดการณ์คราบน้ำมันมีโอกาสจะถูกคลื่นและกระแสน้ำพัดไหลเข้าชายฝั่งบริเวณ อ.ปะทิว อ.บางสะพานน้อย  อ.บางสะพาน อ.ทับสะแก ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่อย่างไรก็ตามน้ำมันที่รั่วไหลสามารถสลายตัวเองได้ดีในธรรมชาติ แต่ยังต้องมีการติดตามและเฝ้าระวัง  ภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ประสานเจ้าของเรือ (บริษัทแหลมทองค้าน้ำมันประมงไทย จำกัด) เพื่อเตรียมน้ำยาสลายน้ำมัน วางทุ่นล้อมน้ำมัน บริเวณเรือที่จม พร้อมประกาศเป็นพื้นที่อันตรายแล้ว 

 

 

 

 

นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีด้านปลอดภัย กรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า  ได้สั่งการให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 สาขาชุมพรติดตามและประสานบริษัทแหลมทองค้าน้ำมันประมงไทย จำกัด ที่เป็นเจ้าของเรือลำดังกล่าว เร่งกู้เรือพร้อมทำการขจัดคราบน้ำมันเร่งวางทุ่นล้อมน้ำมัน บริเวณเรือที่จม พร้อมประกาศเป็นพื้นที่อันตราย โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 สาขาชุมพร ได้มีการออกประกาศสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาชุมพร ที่ 5/2565 เรื่อง ห้ามเดินเรือเข้าพื้นที่ที่ทำการกู้เรือ หรือทำการรื้อ ขนย้าย หรือทำลายซากเรือที่จม ไม่น้อยกว่าระยะ 1 ไมล์ทะเล ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2565 ถึงจนกว่าจะกู้เรือแล้วเสร็จ พร้อมมีคำสั่งห้ามใช้เรือจนกว่าผู้ครอบครองเรือจะแก้ไขปรับปรุงเรือให้มีสภาพเรียบร้อยปลอดภัยแก่การใช้งาน ทั้งนี้ การดำเนินการกู้เรือและขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล ต้องเป็นไปตามมาตรการและแผนการดำเนินการด้านความปลอดภัยที่กรมเจ้าท่ากำหนด

ล่าสุดจากการตรวจสอบคราบน้ำมันที่กระจายตัว พบว่าลักษณะของน้ำมันเป็นฟิล์มน้ำมันบางๆการปล่อยให้สลายตัวตามธรรมชาติจะมีความเหมาะสม เนื่องจากชนิดของน้ำมันที่รั่วไหลสามารถสลายตัวเองได้ดีในธรรมชาติ แต่ยังต้องมีการติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบของคราบน้ำมันว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงในลักษณะใดบ้าง เพื่อหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป เบื้องต้นจะใช้วิธีการกักและเก็บโดยทุ่นน้ำมัน (Boom) จำกัดขอบเขตการแพร่กระจายของน้ำมันเอาไว้ขณะกู้เรือ พร้อมใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันฉีดพ่นไปบนพื้นผิวน้ำ โดยชนิดของน้ำมันที่รั่วไหลในครั้งนี้ คือ น้ำมันดีเซล ซึ่งจัดเป็นน้ำมันเบา สามารถสลายไปได้เองตามธรรมชาติ 

 

 

 

อย่างไรก็ตามกรมเจ้าท่าได้ประสานการดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกับกองทัพเรือในการปฏิบัติตามแผนการขจัดคราบน้ำมัน พร้อมเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของเรือลำอื่นๆที่จอดทอดสมออยู่กลางทะเล โดย กรมเจ้าท่า ได้มีการออกคำสั่งให้กู้เรือโดยเร็วที่สุดพร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบโดยเรือตรวจการณ์เจ้าท่า 1302 บริเวณชายฝั่ง ปัจจุบันในพื้นที่ยังไม่พบคราบน้ำมัน พร้อมกันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนตามมาตรการการป้องกันเหตุการณ์ฉุกเฉินในกรณีน้ำมันรั่วไหล พร้อมเน้นย้ำให้ผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือ ตรวจเช็คสภาพความพร้อมของเรือเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำขึ้นอีก