ศบค.ดัน“หัวหิน-ชะอำ”นำร่องท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

23 ม.ค. 2565 | 12:29 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2565 | 19:41 น.

โฆษกรัฐบาลเผยมติศบค. นายกฯ มั่นใจเปิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ใช้พื้นที่หัวหิน-ชะอำ นำร่องโครงการ “Thailand Wellness sandbox” ควบคู่ “Thailand Riviera” พัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันตก

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ครั้งที่ 1/2565 มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Thailand Wellness Sandbox ที่เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

 

โดยจะใช้พื้นที่ อ.หัวหิน และ อ.ชะอำ เป็นพื้นที่นำร่องโครงการ ควบคู่กับพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกภายใต้โครงการ Thailand Riviera ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และต่อยอดไปยังพื้นที่ในภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ กำชับ สั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ จัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปรับเปลี่ยนมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยใช้จุดแข็งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวของไทยในแต่ละจังหวัดมีความสวยงาม มีเอกลักษณ์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

ทั้งนี้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Thailand Wellness Sandbox) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยู่ในแนวทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19

 

ภายหลังจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นโครงการ 4 เดือนแรกที่สามารถสร้างรายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยว ที่พัก อาหาร ตลอดจนการให้บริการทางการแพทย์ จำนวนกว่า 4,260 ล้านบาท และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวม 10,100 ล้านบาท 
จึงทำให้รัฐบาลเร่งสานต่อโครงการอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวไทยในประเภทอื่น ๆ ให้ดำเนินการต่อได้แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค 

 

ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงเป็นอีกหนึ่งประเภทของการท่องเที่ยวที่รัฐบาลให้ความสำคัญและถือเป็นจุดแข็งของไทยที่ชาวต่างชาติให้การยอมรับและเชื่อมั่นในศักยภาพทางการแพทย์ เป็นการท่องเที่ยวในลักษณะปรนนิบัติดูแลสุขภาพควบคู่กับการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น แพทย์แผนไทย สมาธิบำบัดฟื้นฟูจิตใจ สปาไทย นวดแผนไทย และสมุนไพรไทย 

 

อีกทั้งไทยยังมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข SHA และ SHA Plus ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ การใช้พื้นที่ อ.หัวหิน และ อ.ชะอำ เป็นพื้นที่นำร่องเป้าหมายจะช่วยส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งใหม่ผ่านโครงการส่งเสริมการตลาดและโครงการพัฒนาด้านอุปทานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

ควบคู่กับพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกภายใต้โครงการ Thailand Riviera ประกอบด้วย 4 จังหวัดที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกันได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมทั้งเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ กีฬา และการท่องเที่ยวโดยชุมชน

 

“รัฐบาลเชื่อมั่นว่า การนำร่องโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้แต่ละภาคส่วนนำไปประยุกต์ใช้ พิจารณาพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปจนถึงระดับฐานราก รวมทั้งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาจากแนวคิด ความต้องการของท้องถิ่น ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นโอกาสกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นในอนาคต”