ขสมก.โอดผลประกอบการปี 64 ขาดทุนกว่า 5 พันล้าน เซ่นพิษโควิด

21 ม.ค. 2565 | 16:56 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2565 | 00:02 น.

“ขสมก.” เปิดผลประกอบการปี 64 ขาดทุน 5-6 พันล้าน เหตุโควิด-19 ระบาดหนัก กระทบผู้ใช้ริการลดลง 4-5 แสนคนต่อวัน วอนรัฐแก้ปัญหาโควิด สายพันธุ์โอมิครอน คาดรายได้ปี 2565 โต 10%

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า สำหรับผลประกอบการในปี 2564 พบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณการใช้บริการรถเมล์ ขสมก.ปรับลดลงราว 50% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปัจจุบัน ณ เดือน ม.ค. 2565 มีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย 4-5 แสนคนต่อวัน ลดลงจากช่วงก่อนที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 9 แสน-1 ล้านคนต่อวัน  ส่งผลกระทบต่อรายได้โดยตรง  โดยในปี 2564 ขสมก.มีรายได้รวม 7-8 พันล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้มีผลประกอบการขาดทุน  5-6 พันล้านบาท และเมื่อเทียบกับผลขาดทุนช่วงปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท จะเห็นว่า ขสมก.ขาดทุนเพิ่มมากขึ้น 1 พันล้านบาท

 

 

 

“หากรัฐบาลบริหารจัดการปัญหาโอมิครอนได้ดี สามารถคุมการระบาดได้ ประชาชนจะมั่นใจและกลับมาเดินทางมากขึ้น  จากนี้คงต้องจับตาเดือนต่อเดือน ว่ายอดผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง กลับมาอยู่ที่ 6 แสนคนต่อวัน  คาดว่ารายได้ของขสมก.ในปี 2565 อาจจะเติบโตได้ 10%  จากปีก่อน ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7.7-8.8 พันล้านบาท   สามารถลดยอดขาดทุนลงได้10% เช่นกัน โดย ขสมก.จะต้องเร่งปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นด้วย โดยเฉพาะต้นทุนค่าซ่อม ด้วยการเร่งทำแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจัดหารถเมล์ไฟฟ้ามาให้บริการโดยเร็ว”

 

 


สำหรับในปี 2565 นั้นปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เข้ามาซ้ำเติมทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการรถเมล์ปรับลดลงอีก เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีก่อน โดยล่าสุด เดือนม.ค.2565 จำนวนผู้ใช้บริการเหลือวันละ 4-5 แสนคน ลดลงจากช่วงปลายปีก่อน 1 พ.ย. 2564 ที่รัฐบาลเปิดประเทศ ซึ่งช่วงนั้นผู้ใช้บริการเริ่มกระเตื้องและปรับสูงขึ้นเป็นวันละ 5-6 แสนคน