พาณิชย์สั่งผู้เลี้ยง-ห้องเย็นต้องแจ้งสต๊อกหมู ไม่แจ้งส่งดำเนินคดีทันที

21 ม.ค. 2565 | 14:37 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2565 | 21:44 น.

พาณิชย์สั่งผู้เลี้ยง-ห้องเย็นต้องแจ้งสต๊อกหมู   หากพบไม่แจ้งให้ดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด  ย้ำต้องไป แจ้งปริมาณ และราคาทุก 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.65

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดให้ผู้เลี้ยงสุกร ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป และผู้ครอบครองหรือห้องเย็นที่มีสต็อก ตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป แจ้งปริมาณ และราคาทุก 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.65 เป็นต้นมา เพื่อดูแลปริมาณสุกรและสต็อกเนื้อสุกรที่มีอยู่ทั้งประเทศ โดยกรมการค้าภายในได้มีการตรวจสอบสต๊อกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง

พาณิชย์สั่งผู้เลี้ยง-ห้องเย็นต้องแจ้งสต๊อกหมู ไม่แจ้งส่งดำเนินคดีทันที

พาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดได้บูรณาการกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจสอบติดตามผู้ประกอบการครอบครองสุกร เนื้อสุกร ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บและการจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร ตามประกาศ กกร. หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

พาณิชย์สั่งผู้เลี้ยง-ห้องเย็นต้องแจ้งสต๊อกหมู ไม่แจ้งส่งดำเนินคดีทันที

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 พาณิชย์จังหวัดสงขลาได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา กองบังคับการตำรวจ ปคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบห้องเย็นในพื้นที่จังหวัดสงขลาที่รับฝากสินค้าเนื้อสุกรชำแหละ พบว่า มีการจัดทำบัญชีและแจ้งปริมาณสินค้า เนื้อสุกรไม่ตรงกับสินค้าที่มีการตรวจสอบ ณ สถานที่ฝากเก็บสินค้า ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลาจึงได้ทำการบันทึกการตรวจสอบและไปแจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอจะนะ เพื่อดำเนินคดีในข้อหาไม่แจ้งปริมาณในครอบครองกับห้องเย็นรับฝากซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนผู้อื่นตามข้อ 3 ในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 เรื่องการแจ้งปริมาณราคาสถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีสินค้า สุกรเนื้อสุกร มีความผิดตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ. 2542

 

“ขอให้ผู้เลี้ยงสุกร ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป และผู้ครอบครองหรือห้องเย็นที่มีสต็อกสุกร ตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ให้แจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บและการจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร ตามประกาศ กกร. หากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ประกอบการายใดไม่แจ้งปริมาณ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะแจ้ง หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบเห็นว่ามีการกักตุนจะมีโทษตามมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีโทษจำคุก 7 ปีปรับ 140,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกักตุนหรือจำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ”