“SIOFA” เตรียมยึดคืนพื้นที่ทำประมง ในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ จริงหรือ

19 ม.ค. 2565 | 17:57 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 01:32 น.
595

“กรมประมง” ผนึก “นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย” ตีแผ่ข้อเท็จจริง กรณีข่าว “ SIOFA “ เตรียมยึดคืนพื้นที่ทำประมงเรือนอกน่านน้ำในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ จริงหรือไม่ มีคำตอบ

สืบเนื่องจากมีกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยว่าประเทศไทย กำลังถูก “SIOFA"เตรียมยึดคืนพื้นที่ทำประมงเรือนอกน่านน้ำ ในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ จริงหรือ ไม่นั้น

อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์

 

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมนอกน่านน้ำไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นนี้ไร้สาระ ในอดีตเราทำการประมงในพื้นที่ดังกล่าวมานานแล้ว ผ่านได้เข้าร่วมเป็นภาคี “SIOFA" กับองค์กรที่ตั้งขึ้นมา เวลาที่ทำประมงก็ให้รายงานว่าเรามีการทำประมงปีหนึ่งจับปลาเท่าไร ต้องรายงานสถิติการทำประมง การลงแรงจับสัตว์น้ำที่จับได้มีอะไรบ้างก็จะนำไปจดบันทึก แล้วองค์กรนี้มีการรวมตัวกันแค่ 11 ประเทศ

 

ในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ มี 2 องค์กร อีกองค์กรหนึ่ง Indian Ocean Tuna Commission  หรือ  IOTC ทำการประมงมา 20-30 ปีแล้ว ซึ่งองค์กรนี้จะดูแลเรื่องปลาผิวน้ำ แล้วจู่ก็มี  Southern Indian Ocean Fisheries Agreement, SIOFA ตั้งขึ้นมา ซึ่งจะมีผลให้ทั่วโลกยอมรับว่าจะต้องใช้ ประมาณ 10 ประเทศขึ้นไป ถึงจะมีผลและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก

 

ประเทศไทยเข้าร่วมภาคี ซึ่งในตอนนั้นสมาคมมีการคัดค้าน ไปเป็นภาคีกับองค์กรอนุรักษ์ ในขณะที่เราจับปลา ย้อนแย้ง แต่เมื่อเป็นไปแล้วรัฐบาลในขณะนั้นต้องการเข้าร่วมให้ได้ทำทุกวิถีทาง ก่อนที่ประเทศจะปลดใบเหลือง โดยสหภาพยุโรป ก็ได้มาบีบให้ประเทศไทยเข้าร่วมภาคี “SIOFA "  เรือประมง จำนวน 4 ลำ เลือกที่จะทำการประมงหน้าดิน ซึ่งหน้าดินพื้นที่ที่เห็นอยู่นิดเดียวแต่เราเลือกทีจะทำประมงที่อื่นก็ได้ แต่ว่าต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือ  รวมทั้งศักยภาพเรือทำไม่ได้ เราก็เลยเลือกทำแค่ตรงนั้น ทำมากว่า 10 ปีแล้ว

 

"พูดเยินยอตัวเอง เก่งอยู่คนเดียว ถามว่ามีเรือไหม ก็ไม่มี อย่างผม พูดได้เพราะ 1.เป็นนายกสมาคม 2.มีเรือ 3. เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ แล้วเรื่องนี้ไม่มีการหมกเม็ด หรือปกปิดใดใดทั้งสิ้น กรมประมง มีการการสื่อสารกับ “SIOFA"  ตลอดเวลา แต่ว่า คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ มีความเข้าใจบทบาท หน้าที่ในคณะกรรมการหรือไม่ ก็ในรูปนโยบาย แต่กลายเป็นว่ากำลังไปล้วงลูกกรมประมง"

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คุณจะต้องเข้าไปสมัครเป็นข้าราชการ  แล้วก็ไปเป็นฮีโร่ อย่างนี้โอเค แต่ในเมื่อกรมประมงเอง ก็มีภารกิจอยู่ และผมก็ได้สอบถามแล้ววกรมเองก็ติดต่ออยู่ และก็มีการพูดคุยขอข้อมูลจากเรือประมงอยู่ตลอด แล้วก็ได้ชี้แจงกับ องค์กร “SIOFA"  ไปแล้ว แต่กลุ่มที่มาร้อง เป็นแค่เพียงกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอเท่านั้น แล้ว “ SIOFA "  ก็ไม่ได้บอกว่าจะยกเลิกไม่ให้ไปจับปลา แค่สอบถามมาเท่านั้น หน้าที่เราก็ชี้แจงไปก็แค่นั้น แล้วผ่านมากรมประมง และผู้ประกอบการเรือมีการสื่อสารกันตลอด เป็นงานประจำของกรมประมง

 

“ส่วนในกรณีที่มีการตั้งชุดทำงานเฉพาะกิจมาปราบปรามประมงผิดกฎหมาย แล้วบอกว่า วันนี้ทำประมงผิดกฎหมายพรึบไปหมด คุณรอรับใบเหลืองได้เลย ก็แสดงว่าที่ผ่านมาไม่ได้ดูแลเลย แล้วอียูมาตรวจทุกปีอยู่แล้ว ตั้งคำถามว่าทำอะไรผิด ทำไมต้องตื่นเต้น ทำเป็นเหมือนเราจะโดนใบเหลือง  แล้วก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรีไทยไปรับรางวัลเราเป็นประเทศต้นแบบ ในการทำการประมงถูกกฎหมาย แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่อียูจะมาให้ใบเหลืองรอบ 2 ”

 

 

เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์

นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์  รองอธิบดีกรมประมง  เผยว่า กรมประมงขอชี้แจงว่า องค์การบริหารจัดการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ หรือ Southern Indian Ocean Fisheries Agreement, SIOFA เป็นองค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organization, RFMO) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีอำนาจบริหารจัดการตามกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2555 และประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก เมื่อปี พ.ศ. 2560 ซึ่ง SIOFA ถือเป็น RFMO ที่ก่อตั้งใหม่มากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับ RFMO อื่นๆ เช่น IOTC ที่ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 การออกกฎข้อบังคับใดๆ

 

เพื่อบังคับใช้กับการประมงของภาคีสมาชิกจำเป็นต้องรอผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มาเป็นพื้นฐานใน การกำหนดมาตรการต่างๆ โดยในระหว่างที่รอผลการศึกษาข้อมูลวิทยาศาสตร์นี้ SIOFA มีข้อตกลงร่วมกันว่า เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศไว้เป็นการล่วงหน้า ขณะเดียวกัน ไม่ให้กระทบต่อการทำประมงในแหล่งประมงเดิมของภาคีสมาชิก

 

“SIOFA”  เตรียมยึดคืนพื้นที่ทำประมง ในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ จริงหรือ

 

จึงกำหนดไม่ให้เรือประมงของรัฐสมาชิกขยายพื้นที่ทำการประมงออกไปจาก  แหล่งเดิมที่เคยทำการประมงอยู่ (หรือที่เรียกว่า Fishing Footprint) จนกว่าจะมีมาตรการอื่นที่เหมาะสมมาใช้บังคับ ซึ่งเรือไทยที่เคยทำการประมงใน Saya de Malha Bank ของ SIOFA ก็ให้ทำต่อไปได้ และในบรรดา 11 ภาคีสมาชิก ก็ถูกจำกัดให้อยู่ใน Fishing Footprint ของตนเอง เช่นเดียวกับประเทศไทย

 

 

ปัจจุบันมีเรือประมงอวนลากไทยที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงใน Saya de Malha Bank  ของ SIOFA จำนวน 4 ลำ ซึ่งประเทศไทยโดยศูนย์ Fisheries Monitoring Center, FMC ของกรมประมง มีการควบคุม ติดตาม และเฝ้าระวังกลุ่มเรือดังกล่าวตามมาตรการอนุรักษ์และจัดการของ SIOFA อย่างเข้มงวด และเรือประมง ได้ปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวสำหรับการทำประมงพื้นท้องน้ำที่บังคับใช้ในปัจจุบันอย่างครบถ้วน

 

 

มีระบบติดตามอิเล็กทรอนิกส์ และมีผู้สังเกตการณ์ประมงอยู่บนเรือตลอดเวลาในทุกเที่ยวเรือ และประเทศไทยได้รับการประเมินว่ามีระดับการปฏิบัติตามกฎ SIOFA ได้ 100% ในทุกรอบการประเมินของ SIOFA การทำการประมงของไทยจึงเป็นไปตามกฎข้อบังคับในปัจจุบัน จึงไม่เป็นเหตุที่ SIOFA จะยกมายึดคืนพื้นที่ทำการประมงของไทยได้แต่อย่างใด 

 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสามัญประจำปีของภาคีสมาชิก ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา องค์กร The Deep Sea Conservation Coalition, DSCC ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ได้นำเสนอเอกสาร เรื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความหลากหลายทางระบบนิเวศจากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank โดยเรียกร้องให้ประเทศไทยหยุดทำการประมงในบริเวณพื้นที่ Saya de Malha Bank จนกว่าจะมี การประเมินสภาวะทรัพยากรและพัฒนามาตรการที่ปกป้องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และชนิดสัตว์น้ำ ตลอดจน หญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าว

 

ประเทศไทยและภาคีสมาชิกอื่นเห็นว่าเป็นการเรียกร้องที่ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้มารองรับ ข้อเสนอดังกล่าวของ DSCC จึงไม่ได้รับมติเห็นชอบจากภาคีสมาชิก SIOFA ดังนั้น การกล่าวถึงเรือประมงไทย ไปลากทำลายหญ้าทะเลจนส่งผลให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นข้อมูลข่าวที่ไม่ถูกต้อง

 

อย่างไรก็ตามจากข้อเรียกร้องของ DSCC ดังกล่าว ภาคีสมาชิกจึงเร่งรัดให้คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของ SIOFA ดำเนินการศึกษาข้อมูลในพื้นที่ Saya de Malha Bank และให้นำมาพิจารณาในการประชุมประจำปี คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ (Scientific Committee, SC) ในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นตารางเวลา กำหนดการประชุมประจำปีเป็นปกติ ซึ่งผู้แทนไทยที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ประจำ SIOFA ได้เข้าร่วมเป็นประจำทุกปี

 

 

จะมีวาระการพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในหลายๆเรื่อง เช่น การประเมินสภาวะทรัพยากรปลาหิมะ (ประเทศไทยไม่ได้จับปลากลุ่มนี้) การประเมินความเสี่ยงของระบบนิเวศและประชากรสัตว์น้ำ การพิจารณา ข้อมูลทางวิชาการสำหรับเขตคุ้มครองทางทะเลเป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าการประชุมนี้จะเป็นประเด็นทางวิทยาศาสตร์ เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณามาตรการหรือกฎข้อบังคับต่อการทำประมงเพื่อลงโทษ

 

เรือไทยทั้งสิ้น ส่วนจะได้ข้อยุติเรื่องผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หรือไม่อย่างไร คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ก็จะต้องรายงานต่อที่ประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 9 ในเดือนกรกฎาคม 2565 ต่อไป ทั้งนี้ ตารางการประชุม SIOFA จะถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์เป็นสาธารณะ ที่สามารถตรวจสอบกำหนดการประชุมในแต่ละปีได้เป็นการล่วงหน้า

 

คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ ได้เริ่มทำการศึกษาในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยได้ประสานงานกับกรมประมงเป็นระยะเพื่อขอรับข้อมูลการทำประมงที่ผ่านมาของกองเรือประมงไทย เพื่อประกอบในการศึกษาและวิเคราะห์ ทั้งนี้ กรมประมงไม่ได้ปิดบังข้อมูลในเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อเท็จจริงด้านวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ SIOFA ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามกระบวนงานและขั้นตอนของ SIOFA ที่กำหนดไว้ และเป็นไปตามมติที่ประชุมของภาคีสมาชิก

 

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมประมงได้ประสานแจ้ง และร่วมดำเนินการกับผู้ประกอบการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยมาโดยตลอด นอกจากนี้ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ กรมประมงได้ทำงานร่วมกันกับคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ SIOFA มาอย่างต่อเนื่องในฐานะภาคีสมาชิก

 

"ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้จัดเตรียมทีมคณะนักวิชาการ และคณะผู้แทนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องข้อมูลและท่าทีประเทศไทยในการเข้าประชุมทั้งสองการประชุมในฐานะรัฐภาคีสมาชิกเพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศไทย และประโยชน์ของ SIOFA ให้ได้อย่าง สมดุล"

 

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล

 รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวพร้อมโชว์หลักฐานชัดว่า  ถ้าแจ้งประสานเรือนอกน่านน้ำตลอด เจ้าของเรือ 4 ลำ จะทำจดหมายไปถามทำไม 

 

โชว์หลักฐาน