ครม.ไฟเขียว วีซ่า LTR ดึงนักลงทุน แรงงานมีศักยภาพสูงเข้าไทย พำนักสูงสุด 10 ปี

18 ม.ค. 2565 | 15:10 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2565 | 22:11 น.
552

ครม.ไฟเขียวร่างประกาศกระทรวง 2 ฉบับ ดึงดูดนักลงทุน-ผู้เกษียณอายุ-ผู้ทำงานที่มีความสามารถสูง-ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเข้าไทย วีซ่า LTR สูงสุด 10 ปี รองรับการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

18 มกราคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวง รวม 2 ฉบับ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล อันจะส่งผลให้มีการใช้จ่ายภายในประเทศและเกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจ ประชาชน และแรงงานในประเทศมีรายได้ต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen)
  2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner)
  3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work - from - Thailand professional)
  4. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (High - skilled professional)

ร่างประกาศฉบับแรก คือ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย

เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการพำนักระยะยาว (long - Term Resident Visa : LTR Visa) มีสาระสำคัญ อาทิ

1.กำหนดประเภทการตรวจลงตราผู้พำนักระยะยาว (long – Term Resident Visa : LTR Visa) ขึ้นใหม่ โดยคุณสมบัติคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิการตรวจลงตราประเภท LTR รวมถึงผู้ติดตามของคนต่างด้าว (คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปี จำนวนไม่เกิน 4 คน) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศกำหนด

2.คนต่างด้าวต้องยื่นคำขอหนังสือรับรองคุณสมบัติ พร้อมหลักฐานและเอกสารตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด 

3.อายุการตรวจลงตรา 10 ปี โดยคราวแรกไม่เกิน 5 ปี ขยายระยะได้คราวละไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 ปี โดยเสียค่าธรรมเนียมปีละ 10,000 บาท

4.คนต่างด้าวและผู้ติดตามต้องแจ้งข้อมูลที่พักต่อเจ้าหน้าที่ทุก 1 ปี 

5.เมื่อคนต่างด้าวได้รับอนุญาต สามารถยื่นคำขออนุญาตทำงานได้

6.คนต่างด้าวและผู้ติดตามที่ได้รับวีซ่า LTR สามารถขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าอื่นได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด

7.หากคนต่างด้าวและผู้ติดตามไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ จะถูกเพิกถอนวีซ่า LTR

ส่วนร่างประกาศฉบับที่ 2 คือ ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย มีสาระสำคัญ อาทิ

1.กำหนดบทนิยาม คนต่างด้าว คือ คนต่างด้าวและผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสของคนต่างด้าว ตามร่างประกาศกระทรวงหมาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ

2.คนต่างด้าวสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตทำงาน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้คนต่างด้าวสามารถทำงานไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน

3.กำหนดอายุของใบอนุญาตทำงาน ดังนี้

  • กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานโดยมีนายจ้าง ให้ใบอนุญาตทำงานมีอายุเท่าสัญญาจ้างแต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตทำงาน และสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ โดยให้ต่ออายุตามระยะเวลาในสัญญาจ้างแต่ไม่เกินครั้งละ 5 ปี
  • กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีนายจ้าง (ธุรกิจส่วนตัว) ให้ใบอนุญาตทำงานมีอายุเท่าที่คนต่างด้าวร้องขอแต่ไม่เกิน 5 ปี  นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตทำงาน และสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ตามที่ร้องขอแต่ไม่เกินครั้งละ 5 ปี

4.การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานเป็นอันสิ้นสุด เมื่อการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวเป็นอันสิ้นสุดลง เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ เช่น คนต่างด้าวไม่ดำเนินการตามประกาศ ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด