เปิดแผน เตรียมผู้สูงวัยไทยให้พร้อมเป็นพลเมืองแอคทีฟ

16 ม.ค. 2565 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2565 | 23:09 น.

อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เตรียมผู้สูงวัยไทยในอนาคตให้พร้อมเป็นพลเมืองแอคทีฟ พึ่งพาตนเอง รักษาสุขภาพให้แข็งแรง มั่นคงทางเศรษฐกิจ มีส่วนร่วมทางสังคม ชี้รัฐและเอกชนต้องพร้อมหนุนทุกมิติ

องค์การสหประชาชาติระบุประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยสมบูรณ์นับตั้งแต่ปี 2564 ตามเกณฑ์ประชากรวัยเกิน 60 ปี มีกว่า 20% ของประชากรในประเทศ ขณะที่อัตราการเกิดต่ำเพียง 6 แสนคนต่อปี สาเหตุมาจากครอบครัวสมัยใหม่ไม่ต้องการมีบุตรและการแต่งงานช้า

 

รองศาสตราจารย์ ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตในมุม “เศรษฐศาสตร์” เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน เอกชน และรัฐ เตรียมการรับมือผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตในบั้นปลายของทุกคนที่กำลังจะเป็นผู้สูงวัยในวันหน้า 

สำหรับผู้สูงวัยในอนาคตซึ่งหมายถึงประชากรวัยเด็กและวัยทำงานปัจจุบัน  รศ.ดร.นพพล แนะว่าควรเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งสุขภาพร่างกายตนเอง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเครือข่ายทางสังคม เพื่อการพึ่งตนเองให้มากที่สุด

 

“จากงานวิจัยในจีน แม้ว่าจำนวนผู้สูงอายุที่ระบุว่าต้องการอยู่ตามลำพังอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่า ถ้าเลือกได้ ผู้สูงอายุอยากจะอยู่ตามลำพังจริงไหม และถ้าต้องอยู่ตามลำพัง จะอยู่ได้ไหม งานวิจัยในยุคหลังหันมาให้ความสนใจกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุตามลำพังมากขึ้น และเน้นไปที่การประดิษฐ์เทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง เช่น การเปลี่ยนบ้านให้เป็น smart home การผลิตเทคโนโลยีขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน และการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ผู้สูงอายุสามารถจัดการได้เอง

 ในปัจจุบัน การทำบ้านในลักษณะนั้นเป็นเรื่องของตลาด อยากอยู่ต้องมีเงิน แต่ถ้าไม่มีเงิน รัฐควรจะช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร ประเด็นเหล่านี้ต้องไขกันต่อ หากเราต้องการให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

 

ขณะที่รัฐก็ต้องพิจารณาความต้องการที่ละเอียดอ่อนของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริการด้านสุขภาพ ความต้องการเครือข่ายทางสังคม ระบบบริการด้านกฎระเบียบต่างๆ และความมั่นคงสถานะทางเศรษฐกิจ โดยพัฒนาไปพร้อมกันทุกมิติที่กล่าวมา

 

“ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองว่าคุณภาพของผู้สูงวัยจะดีขึ้นหากได้ทำงาน รัฐก็ต้องออกกฎหมายอนุญาตให้ว่าจ้างผู้สูงอายุทำงานได้ พร้อมแรงจูงใจด้านการลดหย่อนภาษี คำถามจึงตกอยู่ที่ภาคเอกชนว่าพร้อมเพียงใดที่จะรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน แล้วภาครัฐเองจะช่วยเหลือทุกฝ่ายอย่างไร”