1 ศตวรรษ ASF เกษตรกรอย่าท้อ เร่งเดินหน้าต่อให้เร็วที่สุด

12 ม.ค. 2565 | 18:59 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2565 | 02:13 น.

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เขียนบทความเรื่อง 1 ศตวรรษ ASF : ไทยอย่าท้อ...เร่งเดินหน้าต่อ ใจความสำคัญดังนี้

 

ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ถูกพูดถึงอย่างหนาหู หลังถูกเชื่อมโยงกับราคาหมูที่ปรับเพิ่มขึ้น กระทั่งวันนี้ที่กรมปศุสัตว์ ประกาศพบโรค ASF ในหมู ที่โรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม และได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาด มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร และเตรียมรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)

 

ทำความรู้จัก ASF

 

ASF (African Swine Fever Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อโรคเฉพาะในสุกร พบครั้งแรกที่ประเทศเคนย่า เมื่อปีพ.ศ.2464 หรือนานกว่า 100 ปีมาแล้ว จากนั้นโรคลามจากทวีปแอฟริกาไปยังทวีปอื่นๆ รวมประเทศต่างๆที่พบโรค ASF จากอดีตหนึ่งร้อยปีจนถึงวันนี้ทั่วโลกพบ ASF แล้วกว่า 60 ประเทศ

 

โดยปัจจุบันพบไวรัสนี้แพร่กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ใน 35 ประเทศทั่วโลก สำหรับทวีปเอเชีย พบครั้งแรกที่รัสเซียฝั่งตะวันออกในส่วนที่ติดกับจีนเมื่อพ.ศ.2551 จากนั้นโรคได้เข้าไปยังจีน ประเทศผู้ผลิตหมูและผู้บริโภคเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2561 และพบในประเทศอื่นๆ ทั้งมองโกเลีย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เวียตนาม สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต้ อินโดนีเซีย และอินเดีย

 

วิวัฒน์  พงษ์วิวัฒนชัย

 

แม้ว่าเป็นโรคนี้จะถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในหมู ไม่สามารถติดต่อสู่คนและสัตว์อื่นได้ คนยังคงบริโภคเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย แต่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง หากพบการระบาดของโรคในประเทศใด การกำจัดโรคจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยารักษาโรคที่เฉพาะเจาะจง    

 

​ไทย อยู่ตรงไหนในแผนที่ “โรค”

 

ประเทศต่างๆรอบไทยต่างเผชิญหน้ากับโรคนี้ทั้งหมดแล้ว ไทยจึงถือว่าเป็นประเทศท้ายสุดของเขตรอบบ้านเรา ที่อยู๋ในแผนที่โรคนี้ ที่ผ่านมาทั้งกรมปศุสัตว์ในฐานะภาครัฐ ต่างจับมือกับเกษตรกรผู้เลี้ยง สมาคม ภาคเอกชนผู้ประกอบการ สถานบันการศึกษา นักวิชการ นักวิจัย ร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ASF อย่างเข้มงวดมาตลอด โดยเฉพาะการคุมเข้มด่านพรมแดน รวมทั้งใช้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูง (Biosecurity) ภายในฟาร์ม ที่อาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นและจุดแข็งของไทย กระทั่งกลายเป็นประเทศที่ทุกคนต่างจับจ้องและต้องการหมูที่มีคุณภาพจากไทย เพื่อป้อนตลาดต่างประเทศที่กำลังประสบปัญหาโรคนี้ นำเงินตราเข้าประเทศหลายหมื่นล้านบาท นี่คือความสำเร็จจากการป้องกันโรคอย่างเข้มแข็งของบ้านเรา

 

1 ศตวรรษ ASF เกษตรกรอย่าท้อ เร่งเดินหน้าต่อให้เร็วที่สุด

 

แม้วันนี้ไทยถูกเจาะไข่แดงพบเชื้อที่นครปฐม ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของการเลี้ยงหมูก็ตาม แต่ทุกคนต้องเดินหน้า Move On จากเรื่องนี้ให้ได้ การจัดการสอบสวนโรคให้เป็นหน้าที่ภาครัฐที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อควบคุมโรคไม่ให้แพร่ไปในวงกว้าง และภาคส่วนอื่นต้องเร่งทำหน้าที่ของตนเองอย่างแข็งขัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมหมูเอาไว้ให้ได้

 

 

เกษตรกรอย่าท้อ เร่งเดินหน้าต่อให้เร็วที่สุด

 

ต้องไม่ลืมว่า เรายังมีอีกปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไขโดยเร็ว คือการเร่งแก้ภาวะขาดแคลนซัพพลายหมูในตลาด ที่กลไกภาครัฐต้องเริ่มทำงาน ผู้เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าตามมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้อย่างจริงจัง ด้วยการผลักดันให้พี่น้องเกษตรกรรายย่อย-รายกลาง ที่เลิกเลี้ยงหรือหยุดการเลี้ยงเพื่อรอดูสถานการณ์ไปก่อนหน้านี้ ได้กลับเข้าสู่ระบบอีกครั้งให้เร็วที่สุด

 

ที่สำคัญ ต้องได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการเร่งจ่ายเงินชดเชยคงค้างให้เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทำลายหมูจากภาวะโรค ตามมาตรฐานการป้องกันโรค ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อให้คนเลี้ยงมีทุนรอนในการประกอบอาชีพ และเกิดความมั่นใจหากจะกลับมาเลี้ยงอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาทุกคนต้องประสบกับปัญหารอบด้าน ทั้งหมูล้นตลาด ราคาหมูตกต่ำ เกิดภาวะขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปี รวมทั้งสถานการณ์โรคระบาดในหมู ที่ขณะนี้ต้องเร่งจัดการ ไปพร้อมกับการพัฒนาวัคซีน เพื่อให้ผู้เลี้ยงมีขวัญกำลังใจว่าจะไม่มีความเสี่ยงในอาชีพ

 

ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร ด้วยมาตรการช่วยเหลือ-พักหนี้-ลดหนี้-พักดอกเบี้ย การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เหมือนอย่างในอดีตที่ธนาคารเคยกำหนดการปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกร และควรมีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

 

อีกข้อสำคัญคือ มาตรการช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ เช่น ลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เหลือ 0% เพราะไทยต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงได้เป็นอย่างมาก

 

รวมทั้งปล่อยให้ “ราคาหมูเป็นไปตามกลไกตลาด” ไม่ให้เกษตรกรต้องวนลูปเดิม กับความบอบช้ำจากนโยบายการคุมราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มก่อนหน้านี้ และการคุมราคาเนื้อหมูปลายทาง ที่ทำให้กลไกตลาดบิดเบี้ยว

 

วันนี้รัฐบาลต้องหาวิธีจูงใจและฟื้นความเชื่อมั่นให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูให้ได้ บนพื้นฐานของมาตรการป้องกันโรคที่ดี และเหมาะสมกับฟาร์มเกษตรกรแต่ละประเภท นี่ถือเป็น “โอกาส” ใน “วิกฤติ” ที่ไทยจะได้ “ยกเครื่อง” วงการหมูทั้งระบบ สู่อุตสาหกรรม 4.0 การป้องกันโรคอย่างเข้มงวดจะกลายเป็น New Normal ของฟาร์มหมู นอกจากจะได้อาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคแล้ว เกษตรกรเองจะมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น และสามารถป้องกันโรคต่างๆในหมูได้อย่างเข้มแข็ง

 

ส่วนในฟาร์มที่ยกระดับการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ต้องรักษาระบบ Biosecurity ให้ดี ต้องไม่ประมาท การ์ดอย่าตก และอย่าเพิ่งตกใจกลัวโรคนี้ ต้องมีสติ ดูแลตัวเอง และเพื่อนในวงการ งวดนี้ถือว่าเป็นอีกเวทีวัดความสามัคคีของเกษตรกรไทย รวมถึงนักวิชาการ ภาครัฐ เอกชน ให้สมกับที่ทุกคนเหนื่อยมาตลอด 3 ปี และจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันให้ได้อย่างที่เคยผ่านมาแล้ว