มช.ปรับหอพัก129ห้องเป็นCIรองรับบุคลากรกลุ่มติดโควิด"สีเขียว" 

11 ม.ค. 2565 | 11:52 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2565 | 19:03 น.

    มช. พร้อมทีมแพทย์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ปรับอาคารหอพักขนาด 129 ห้อง เปิดเป็นศูนย์พักคอยชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองรับนักศึกษาและบุคลากร มช. ที่ติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และจัดระบบการดูแลผ่านระบบแพทย์ทางไกล Telemedicine ตลอด 24 ชั่วโมง

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ นับเป็นระลอกที่ 6 ซึ่งเกิดจากการระบาดในร้านอาหารและสถานบันเทิงช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่หลายแห่ง ลักษณะนี้เราเชื่อว่าจะมีผู้ป่วยจำนวนมากกว่าการระบาดในระลอกก่อนหน้านี้

 

ปัจจุบันแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดฯ จะมีการรักษาประเมินตามอาการ โดยโรงพยาบาลหลักทุกแห่งจะไม่รับผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด เนื่องจากโรงพยาบาลต้องสงวนเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างหนัก (เคสอาการเหลือง ส้ม แดง)

มช.ปรับหอพัก129ห้องเป็นCIรองรับบุคลากรกลุ่มติดโควิด\"สีเขียว\" 

มช.ปรับหอพัก129ห้องเป็นCIรองรับบุคลากรกลุ่มติดโควิด\"สีเขียว\" 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือกลุ่มอาการสีเขียว จะเน้นให้แยกกักตัวดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ตามแนวทางของทางจังหวัด โดยที่จะมีแพทย์พยาบาลคอยดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดผ่านระบบแพทย์ทางไกล

 

แต่ทั้งนี้อาจมีบางกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาตัวในบ้านได้ ด้วยเหตุจำเป็นบางประการ เช่น อยู่บ้านร่วมกับผู้สูงอายุ ไม่สามารถแยกห้องน้ำได้ พื้นที่คับแคบ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน หรือมีข้อจำกัดที่ไม่อาจอยู่ในหอพัก คอนโดฯ  ด้วยเหตุที่เจ้าของหอพักไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยอยู่ในหอ กรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องให้การรักษาในสถานที่เฉพาะ ที่เรียกว่า การแยกกักโรคของชุมชน หรือ Community Isolation

มช.ปรับหอพัก129ห้องเป็นCIรองรับบุคลากรกลุ่มติดโควิด\"สีเขียว\" 
    

มช.ปรับหอพัก129ห้องเป็นCIรองรับบุคลากรกลุ่มติดโควิด\"สีเขียว\" 

ผศ.นพ. นเรนทร์ เปิดเผยอีกว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีบุคลากรและนักศึกษา มช. มีการติดเชื้อและมีอาการป่วยจำนวนหนี่ง หากเป็นช่วงกลางปีที่ผ่านมา ที่เรายังมีความเข้าใจโรคไม่มากนัก ผู้ป่วยจะได้รับรักษาตัวที่โรงพยายาล(รพ.)สนาม

 

แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนแนวทาง และวิธีการรักษาแล้วจาก รพ.สนาม เปลี่ยนเป็นวิธีการที่เรียกว่า "การแยกกักตัวของชุมชน" แทน ซึ่งแนวคิดคือ การนำผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านไม่ได้ มารวมตัวกันภายใต้การดูแลของชุมชน พร้อมกับมีทีมแพทย์พยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) มีการประสานงานทุกขั้นตอนของการรักษา โดยการส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน ที่จะทำให้แพทย์และพยาบาลติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

จากแนวโน้มการระบาดดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อมทีมแพทย์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้ทำการเปิดพื้นที่อาคารหอหญิง 11 ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่แยกกักฯ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "COMMUNITY ISOLATION CMU" เพื่อรองรับการดูแลรักษานักศึกษาและบุคลากร มช. ที่ติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข 

 

สำหรับอาคารหอพักที่ใช้ในการดูแลรักษานี้เป็นอาคาร 5 ชั้น การดูแลจะแบ่งเป็นชั้นของผู้ชาย และชั้นของผู้หญิง โดยที่บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ป่วยด้วยโควิด-19 สามารถเข้ารับการรักษาได้ ทีมแพทย์และพยาบาลจะให้ผู้ป่วยเหล่านี้เข้ามาอยู่ในกลุ่มของการดูแลที่ใช้ LINE  0fficial Account หรือ Line 0A เมื่อเข้ามาในระบบแล้วจะมีการให้ความรู้ คำแนะนำ การรับประทานยาต่าง ๆ  การดูแลขยะติดเชื้อ รวมไปถึงการส่งยา ส่งอาหารให้ผู้ป่วยถึงที่

 

ผู้อำนวยการ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยอีกว่า การรักษาลักษณะนี้จะมีการติดตามอาการทุกวันโดยผู้ป่วยจะต้องส่งข้อมูลจากการวัดออกซิเจนในเลือด วัดอุณหภูมิร่างกาย และส่งตัวเลขเหล่านี้เข้ามาในระบบ ทั้งแพทย์และพยาบาลจะดูข้อมูลในระบบ และติดตามอาการโดยผ่านการส่งข้อความ หรือการทำวีดีโอคอล

 

ทำลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องทุกวัน หากมีอาการหนักหรือมีการเปลี่ยนแปลง ทางโรงพยาบาลจะส่งทีมแพทย์ไปรับ และนำเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาล หากอาการไม่มาก จะให้การรักษา 10 วัน ก็ถือว่ากระบวนการรักษาเสร็จสิ้น สามารถออกจาก COMMUNITY ISOLATION ได้

 

อย่างไรก็ตามยังย้ำว่า หากผู้ป่วยรายใดสามารถแยกกักตัวรักษาตัวที่บ้านได้ ก็ให้เลือกอยู่ที่บ้านของตนเองก่อน โดยโรงพยาบาลจะมีทีมงานดูแลรักษาติดตามอาการอย่างใกล้ชิด มียา มีอาหารส่งถึงบ้านเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้การรักษาผู้ที่เจ็บป่วยจากการระบาดขนาดใหญ่นี้ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเพื่อสงวนเตียงในโรงพยาบาลไว้สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้อย่างแท้จริง