กพช.เคาะแผนรับมือวิกฤติพลังงาน นำเข้า LNG 9.7 ล้านตัน

09 ม.ค. 2565 | 15:56 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2565 | 23:20 น.

กพช.ไฟเขียวแผนกู้วิกฤติพลังงาน หลังแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯไม่ได้ตามสัญญา ต้องหันไปนำเข้าแอลเอ็นจีรวม 9.7 ล้านตัน ทดแทนก๊าซขาด และต้องหันพึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลจ่ายไฟฟ้าเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ ยืดปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 ออกไปอีก 1 ปี

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการผลิตก๊าซฯในช่วงสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณในวันที่ 23 เมษายน 2565 ที่ปริมาณก๊าซฯ จะลดลงเหลือราว 400-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่ำกว่าสัญญาใหม่พีเอสซีที่ระบุไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

 

ส่งผลให้ในปี 2565 ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี ตลาดจร (spot ) มากกว่าแผนเดิมถึง 4.5 ล้านตัน ในขณะที่ ปตท.มีสัญญาระยะยาว (Long Term) ต้องนำเข้าอยู่แล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี ในราคาประมาณ 12 ดอลลาร์ล้านบีทียู อยู่แล้ว รวมปริมาณที่ต้องนำเข้าทั้งสิ้น 9.7ล้านตัน

 

กพช.เคาะแผนรับมือวิกฤติพลังงาน นำเข้า LNG 9.7 ล้านตัน

 

ดังนั้น เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านมีความต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จำเป็นต้องดำเนินแนวทางได้แก่ 1.จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเต็มความสามารถของแหล่ง รวมถึงจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ทั้งแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย 2. การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 

 

3.รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม กลุ่มชีวมวล ปริมาณรวม 400 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตแบบสัญญา FIRM และ NON FIRM ประเภทละ 20 ราย กำลังผลิต 150 และ 305 เมกะวัตต์ ตามลำดับ 4.ให้โรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า แต่มาตรการนี้ขึ้นอยู่กับ Generation Mix หรือศักยภาพของระบบส่งที่รองรับและความเพียงพอของการจัดหาเชื้อเพลิงตามฤดูกาล

 

 

5.รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยเร่งรัดโครงการน้ำงึม 3 กำลังผลิต 480 เมกะวัตต์ให้เร็วขึ้นจากเดิมจะเข้าระบบกลางปี 2566

 

ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ เพื่อทดแทนการนำเข้า LNG Spot โดย กพช. มอบหมายให้ กบง. พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ในแนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องตามสถานการณ์

 

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา โดยให้นําเงินผลประโยชน์ของบัญชี Take or Pay ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จํานวน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมดไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยนําส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดค่าไฟฟ้า และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว

 

ทั้งนี้เบื้องต้นหากมีการลดค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดเดียว (4 เดือน) จะลดได้ราว 22 สตางค์/หน่วย แต่หากนำมาเฉลี่ย 3 งวด หรือ 1 ปี จะลดค่าไฟฟ้าต่องวดได้ราว 6 สตางค์ต่อหน่วยต่องวด โดย กกพ. ประเมินจะช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้าที่ขึ้นราว 7.18 สตางค์ต่องวด เหลือ 1.39 สตางค์ต่องวด ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคไม่แบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงเกินไป

 

อีกทั้ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้งานการตอบสนองด้านโหลดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และสามารถนำการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response: DR) มาทดแทนโรงไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทย ในระยะปานกลาง ปี 2565 - 2574 รวมถึงรองรับพลังงงานหมุนเวียนตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ

 

ที่ประชุม กพช. จึงมีมติเห็นชอบโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดปี 2565 - 2566 จำนวน 50 เมกะวัตต์ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กกพ. กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลตามแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 - 2574 ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 มกราคม 2565 นี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกฐาพิเศษ บนเวที TEA FORUM 2022  Mission Possible จัดโดยสถาบันวิยาการพลังงาน (วพน.) ภายใต้งานสัมมนาหัวข้อ Energy Transition to the Next 2050 “ภารกิจพลังงาน เปลี่ยนอนาคต” พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงเกียรติร่วมเสวนา ซึ่งจะทำให้ทราบถึงทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานของประเทศมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสามารถลงทะเบียนและรับชมผ่านสื่อออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ทุกช่องทาง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3747 วันที่  9-12 มกราคม 2565