“โอมิครอน” เสี่ยงสุด ฉุดส่งออกไทยปี 65 มีสิทธิ์โต 0%

22 ธ.ค. 2564 | 16:01 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 23:34 น.

ส่งออกปี 65 ลุ้นระทึกฝ่าด่าน “โอมิครอน” ม.หอการค้าชี้หากกระทบรุนแรง สหรัฐ ยุโรป จีนกลับมาล็อกดาวน์มีสิทธิ์โต 0% ชี้ปัจจัยเสี่ยงยังอื้อ ด้าน สรท.-กกร.คาดส่งออกไทยปีหน้ายังโตได้ 5% จับตาใกล้ชิดผลกระทบโควิดรอบใหม่ เผยออร์เดอร์ Q1 หายห่วงคู่ค้าจองยาวข้ามปีแล้ว

 

ส่งออกไทยช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่า 246,243 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7.73 ล้านล้านบาท) ขยายตัว 16.39% ทั้งปีนี้กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 15-16% ส่วนปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง ภาคเอกชนและนักวิชาการส่วนใหญ่ระบุจะขยายตัวได้ 3-5% จากฐานตัวเลขการส่งออกปี 2564 ที่สูง และยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก โดยความเสี่ยงสูงสุดคือผลกระทบที่อาจเกิดจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลก

 

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีโควิด “โอมิครอน” ที่ระบาดทั่วโลกไม่รุนแรงในแง่ผู้เสียชีวิต และประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ไม่ล็อกดาวน์ประเทศ แต่จะมีมาตรการคุมเข้มการเดินทางหรือการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น คาดส่งออกไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.2-6.3% หรือค่าเฉลี่ยที่ 4.8% แต่หากโอมิครอนระบาดรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปีหน้า เช่นที่เคยระบาดรุนแรงในไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2562 นำสู่การล็อกดาวน์ของหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน คาดการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ -1.3% ถึง +1.6% หรือ ค่าเฉลี่ยที่ +0.2%

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

“การล็อกดาวน์ประเทศ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าลดลง ทำให้นำเข้าลดลง สวนทางกับสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น จากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนด้านต่างๆ ทำให้มีกำลังซื้อลดลง รวมถึงนโยบาย Zero Covid ของจีนที่เป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญทำให้จีนเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจเข้มสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น และใช้เวลานานขึ้น อาจถูกมองเป็น การกีดกันการค้า ซึ่งต้องติดตามว่าโอมิครอนจะมีความรุนแรงของการระบาดทั่วโลกในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและหลังปีใหม่แค่ไหน ทำให้มีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเพิ่มขึ้นมากแสดงว่าวัคซีนที่มีอยู่เอาไม่อยู่ เป็นสิ่งที่น่ากลัว”

 

“โอมิครอน” เสี่ยงสุด ฉุดส่งออกไทยปี 65 มีสิทธิ์โต 0%

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน พ.ย. 2564 ที่ขยายตัวถึง 24.7% และ 11 เดือนขยายตัว 16.4% นั้น ถือว่าเกินกว่าที่ภาคเอกชนคาดการณ์ไว้เล็กน้อย ซึ่งสินค้าที่ส่งออกได้ดี คือ รถยนต์ ที่ทำให้การส่งออกเดือน พ.ย.ขยายตัวได้ดี ทั้งปีนี้ส่งออกไทยน่าจะขยายตัวได้ 15%

 

ส่วนปีหน้า ส่งออกไทยน่าจะขยายตัวได้ที่ 5% โดยความกังวลการแพร่ระบาดโควิดโอมิครอนจะฉุดให้การส่งออกไทยชะงักหรือไม่นั้น มองว่าในระยะสั้นอาจจะไม่กระทบ เพราะในไตรมาส 1 ผู้ประกอบการได้รับคำสั่งซื้อไว้ตั้งแต่ปลายปีนี้แล้ว โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย ซึ่งในครั้งนี้จะแตกต่างเพราะทั่วโลกและไทยมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นแล้ว มองว่าน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงปานกลาง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสูงในไตรมาส 2 ปีหน้าคือการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและบริการที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย เพราะที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวกลับประเทศไปเป็นจำนวนมากจากการแพร่ระบาดของโควิด

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

“ต้องติดตามโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในต้นปีหน้าว่าจะมีความรุนแรงแค่ไหน จากช่วง 1-2 เดือนนี้ พบว่าวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น ทั้งนี้การค้าโลกในปีหน้าคงต้องมีการประเมินอีกครั้ง จากเวลานี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่อง ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือที่อยู่ระดับสูง ขณะที่ปีหน้ามีปัจจัยบวกจากความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ ช่วยขยายการค้า การลงทุนในกลุ่มเพิ่มขึ้น”

 

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกไทยในปี 2565 ทาง กกร. ประเมินจะขยายตัวได้ 3-5% (ณ ธ.ค.64) โดยปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ คือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ปัจจัยเสี่ยงรองลงมาคือ เงินเฟ้อเริ่มสูงที่หลายประเทศเริ่มประสบ ทำให้มีกำลังซื้อลดลง รวมถึงนโยบายการเงินที่อาจจะส่งผลในปีหน้าไม่ว่าจะเป็น เฟดขึ้นดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน หากเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าส่งออกไทยก็จะยังไปได้ดี แต่หากแข็งค่าก็จะกระทบ

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

“การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปีนี้คาดน่าจะขยายตัวได้ 10% รวมถึงช่วงไตรมาสแรกปีหน้ายังไปได้ดี โดยปลายเดือนมกราคมมีเทศกาลตรุษจีนผู้นำเข้ามีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3742 วันที่ 23-25 ธันวาคม 2564