“ข้าวพันธุ์ แม่โจ้ 9” ปลุกความหวังพลิกส่งออกไทย

19 ธ.ค. 2564 | 08:49 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2564 | 22:46 น.
2.3 k

ก้าวใหม่ “สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว” ยืมสิทธิ์ “ข้าวพันธุ์ แม่โจ้ 9“ บูมขยายพันธุ์ถึงมือเกษตรกรอย่างเร็วสุดปลายปี 2565 ปลุกความหวังวงการอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ หวังพลิกส่งออกแย่งตลาดโลกกลับคืนประเทศไทย

ประเทศไทย มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มและให้การรับรองแล้วหลายพันธุ์ แต่ยังไม่นิยมปลูกเป็นที่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากผลผลิตน้อยทำให้ต้นทุนสูงไม่สามารถแข่งขันกับข้าวเวียดนามได้ จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร  (องค์การมหาชน) หรือ สวก.เล็งเห็นและให้ความสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่หน่วยความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ข้าว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ 8 ปี ภายใต้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท จนสามารถพัฒนาเป็นข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์ “หอมแม่โจ้ 9” น้้น

 

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ

 

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร  (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยนี้ โดยใช้เวลาปรับรุงพันธุ์ 8 ปี ภายใต้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท เนื่องจากข้าวมีความสำคัญ เป็นรากฐานของเศรษฐกิจประเทศ เพราะฉะนั้นการให้ทุนวิจัยของข้าวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ สกว.ได้พยายามจัดสรรจากความสำคัญ โดยเฉพาะเน้นในเรื่องการใช้ประโยชน์

 

“ปีหนึ่งได้งบประมาณ 600 ล้านบาท พยายามจัดสรรในเรื่องของตัวงบประมาณให้กับทุกพืช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร สมุนไพร ระบบน้ำ รวมถึงสินค้าเกษตร เพื่อให้งานวิจัยของแต่ละภาคมีความทัดเทียมกัน ดังนั้นจะให้การสนับสนุนทุนต่อไปในอนาคตด้วย”

 

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า เมื่อภาคเอกชนรับงานวิจัยไปแล้วในการที่จะไปส่งเสริมเรื่องของการปลูกต้องเข้าไปสู่ระบบของทางภาครัฐ เพราะการไปขออนุญาตกับทางกรมวิชาการเกษตร ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืชฯ อยู่ดี  ต่อไปก็จะต้องสนับสนุนเพื่อสร้างพันธุ์ใหม่ให้เป็นนวัตกรรมเพื่อรองรับไว้เพราะการแข่งขันระดับประเทศ และระหว่างประเทศจะสูงมาก เพราะฉะนั้นการสร้างพันธุ์ใหม่ ใม่ว่าจะเป็นข้าว ไม้ผล หรือพืชผักชนิดอื่นๆ  ไม่เช่นนั้นเราอาจจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้

 

เกษม ผลจันทร์

​​​​​​

ด้านนายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว  กล่าวถึง “ข้าวพันธุ์หอมแม่โจ้ 9”  เป็นพันธุ์ที่สมาคม   ขอยืมสิทธิ์ ก็คือ การขออนุญาตในการใช้สิทธิ์ในการนำเมล็ดพันธุ์มาเพื่อผลิตเป็นชั้นพันธุ์จำหน่าย เบื้องต้นทำสัญญาไว้  1  ปี เพราะการทำสัญญาจะทำเป็นช่วงๆ  ไม่ใช่เซ็นสัญญาทีเดียว

 

“ตอนนื้ทางสมาคมใช้พันธุ์คัดมาปลูก มาเป็นพันธุ์หลักและมาเป็นพันธุ์ขยาย คือจริงๆ ที่เราคุยกันตลอดเวลา ก็คือพันธุ์ข้าวนุ่ม  แต่ตัวนี้ได้ทั้งหอม และสามารถปลูกได้ทั้งปี ซึ่งเป็นความหวังของเกษตรกรเลย เป็นข้าวที่อายุไม่มาก นับจากข้าวหอมปทุมธานีและหอมมะลิแล้ว ที่ทำกันมาก็มีแต่ชั้นความนุ่มอย่างเดียว แต่ยังไม่มีความหอม”

 

นายเกษม กล่าวว่า อย่าไปกังวลกลัวว่าข้าวหอมแม่โจ้ 9 จะไปปลอมปนกับข้าวหอมมะลิ  เพราะสามารถปลูกได้ตลอดแล้ว เป็นคนละส่วนกันกับข้าวหอมมะลิ จะเหนือกว่าข้าวหอมปทุมธานี แต่จะอยู่ตรงกลาง ระหว่างหอมมะลิ กับข้าวหอมปทุมธานี

 

“เป็นครั้งแรกที่มีการไปขอยืมสิทธิ์ของสมาคม ที่ได้รับความไว้วางใจ ในตอนแรก เราก็ลังเล เค้าก็ลังเลเช่นกัน เรากลัวว่าหากออกมาจะโอเคกันไหม ตอบโจทย์ได้หรือเปล่า ในเมื่อเราลงแรงกันขนาดนี้ จึงขอดูเป็นระยะๆ  จนกระทั่ง สวก. เล็งเห็นความตั้งใจของสมาคม จึงให้ยืมสิทธิ์ ได้เป็นพันธุ์คัดมา ประมาณ 60 กิโลกรัม เพื่อมาปลูกเป็นพันธุ์หลัก ได้ประมาณคนละ 14 ตัน  จะได้ประมาณ 1,120 ไร่ ซึ่งมีทั้งหมด 6 บริษัทในสมาคม”

หลังจากนั้นก็เป็นชั้นพันธุ์ขยาย แล้วจะให้สมาชิกไปปลูกเพื่อไปเป็นชั้นพันธุ์จำหน่ายที่จะขายให้กับเกษตรกร พูดง่ายก็คือ เรารับหัวเชื้อมา เงินลงทุนก็มีทั้งสองส่วน ก็คือลงขัน และ สมาคมลงทุนด้วย  เนื่องจากทางสวก.และทางมหาวิทยาลัย ไม่ได้ให้เอกชนรายหนึ่งรายใดในการยืมสิทธิ์ตัวนี้ ก็คือให้ในนามสมาคม

 

นายเกษม กล่าวถึง ก่อนหน้านี้มีบริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย ก็สามารถกระทำได้ เค้าทำได้เพราะเค้ามีเงิน แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ที่จะเอาต้วเชื้อมาขยายพันธุ์ให้เกษตรกรปลูกได้หรือไม่ ตรงนี้สมาคมเราโชคดีที่ทาง สวก.เห็นว่าเรามีความตั้งใจในการที่จะช่วยขยายพันธุ์ให้ที่จะส่งต่อให้ถึงเกษตรกรโดยเร็ว ปลูกธันวาคม ไปเกี่ยวเมษายน แล้วไปปลูก พฤษภาคม ไปเกี่ยวสิงหาคม   เมษายน ปี 2566  อย่าช้า ช่วงนี้เราเองก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  เพราะเราได้จำนวนหัวเชื้อมาเท่านี้และต้องปลูกตามขั้นตอน หรืออาจจะไวกว่านี้ก็ได้

 

“ถ้าคนติดตามจะมีความใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิ ซึ่งพันธุ์นี้เป็นผลดีกับเกษตรกร ไม่ควรปิดกั้น  เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากนักปรับปรุงพันธุ์ของไทย ซึ่งท่านมีความเก่ง คนเก่งและทำของดีออกมาแล้วไม่มีคนนำออกมาใช้ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าถามว่าวันนี้ข้าวที่เข้าสู่ดินเมืองไทย ณ ตอนนี้ ไม่มีใครจัดการได้ ทั้งที่ไม่ถูกต้องหลายสายพันธุ์”

 

นายเกษม กล่าวว่า วันนี้อย่าไปปิดกั้นไม่ว่าใครก็แล้วแต่ จะเป็นสมาคมใดก็แล้วแต่ ที่อาจจะมองในอีกมิติว่าข้าวนี้ที่ออกมาอาจจะไปทำให้ข้าวหอมมะลิไปปน ผมคิดว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเท่าไร ผมคิดว่าเราต้องดีใจ หากคิดกลับกันถ้าเกิดข้าวพันธุ์นี้หากเวียดนามพัฒนาถึงคุณภาพขนาดนี้ได้น่ากลัวเลย แต่โชคดีที่นักปรับปรุงพันธุ์เราสามารถพัฒนาได้ก่อน คุณภาพใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิมากสามารถปลูกได้กับนาปรัง และปลูกได้ตลอดปีจะเป็นคุณานุปการให้กับวงการข้าวของไทยเลยที่ไม่หยุดพัฒนา

 

“แต่ถ้าเวียดนามเกิดพัฒนาพันธุ์นี้ได้ก่อนไทย ความล่มสลายของมะลิเราจะมีสูงมากเลย  ความตั้งใจจะไปสู่พื้นที่ภาคอีสานเป็นหลักอยู่แล้ว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต้องปรับพื้นที่ให้ปลูกข้าวพันธุ์นี้ได้รับรองจะสร้างชื่อเสียงให้ชาวนา และโรงสีอีสาน จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวนา ปลูกได้ทุกช่วงฤดูเป็นข้าว เป็นข้าวที่มีความนุ่ม ความหอม มีความใกล้เคียงกับข้าวพรีรีเมียมของเรา ทุกอย่างถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเลยวันนี้ชาวนาไทยพบทางออก เป็นทางเลือกและเป็นทางรอดของเกษตรกร”

 

สำหรับอนาคตสมาคมคิดว่าจะไปขอยืมสิทธิ์ ในลักษณะนี้อีก ต้องมีเพราะเรามาแนวทางนี้แล้ว เราอยู่มา 10 ปี ก็ลองผิดลองถูกมาโดยตลอดจนกระทั่งโดนร้องเรียนเพราะไม่มีที่พิง ในส่วนของหน่วยงานรัฐเองก็บูรณาการในส่วนของหน่วยงานรัฐ ของสมาคมก็เป็นองค์กรอิสระสามารถบริหารจัดการในสิ่งที่คิดเอาชาวนาและเกษตรกรเป็นตัวตั้งว่าเกษตรกรทำไม่มีกำไร เราก็ควรที่จะต้องส่งเสริม ต้องสนับสนุนกัน เพราะฉะนั้นเบอร์นี้เป็นเบอร์แรกของสมาคม ไม่ใช่เป็นเบอร์สุดท้ายของสมาคมกับทางมหาวิทยาลัยเรพาะเราจะมีการพัฒนากันตัวนี้ต่อตลอดไป

 

นิทัศน์ เจริญธรรมรักษา

 

สอดคล้องกับนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ประธานที่ปรึกษา สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว  กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของสมาคมที่เข้าร่วมเจรจาขออนุญาตเปิดเผยสิทธิ์ให้สมาคมนำเมล็ดพันธุ์หอมแม่โจ้ 9 มาขยายพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์หลักและพันธุ์ขยาย จากประสบการณ์เรามีความมั่นใจว่าข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวที่จะมาตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องชาวนา ซึ่งเราเองขาดข้าวที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

 

“เรามีข้าวหอมมมะลิที่ดีมาก แต่ว่าผลผลิตการปลูกที่น้อยจนไม่สามารถแข่งข้นที่ราคาได้ แต่ว่าหอมแม่โจ้ 9 มีผลผลิตที่สูงโดยเฉลี่ยแล้ว 700 กิโลกรัมข้าวแห้งต่อไร่ ถือว่าสูงมากนาปรัง จะเป็นการทำให้ราคาข้าวผู้คนทั่วโลกสามารถได้เข้าถึงมากขึ้น ซึ่งจะนำเม็ดเงินจากต่างประเทศ ประเทศที่นิยมบริโภคข้าวหอมและนุ่มในราคาที่ไม่แพงมากนักก็สามารถเข้าถึงข้าวนี้ได้

 

“ผมคิดว่าเป็นทางออกให้กับพี่น้องชาวนา เมื่อเราปลูกข้าวพันธุ์นี้มากขึ้นก็จะทำให้ข้าวแข็งและข้าวหอมมะลิอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมก็คิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าชาวนาไม่เจอปัญหาภัยแล้วข้าวที่เหมาะสมที่สุดก็คือ ข้าวที่ประมาณ 100-105 วัน ซึ่งข้าวหอมแม่โจ้9 ถ้าหว่านน้ำตม จะอยู่ไม่เกิน 105 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรชื่นชอบนิยมอยู่แล้ว “

 

นายนิทัศน์ กล่าวว่า จากที่เราได้รับสิทธิ์จากมหาวิทยาลัย เป็นเมล็ดพันธุ์พันธุ์คัดจำนวน 60 กิโลกรัม ซึงวันที่ 5 จะเป็นวันแรกที่เราหว่านเมล็ดพันธุลงสู่ดิน จากนี้ไปหากข้าวอายุ 120 วัน หลังจากตกกล้าและปักดำ จะเก็บเกี่ยวประมาณต้นเดือนเมษายน ซึ่งผมคิดว่าปลายเดือนมีนาคมเราพอจะคาดคะแนได้แล้วว่าศักยภาพของพันธุ์ข้าวตัวนี้เป็นอย่างไร

 

"ถ้าไม่ผิดที่เราคาดหมาย ผมคิดว่าหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วเราจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ขยายให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะนำพันธุ์นี้ไปปลูกขยายทั่วประเทศไทยน่าจะถึงมือเกษตรกรไทยได้ไม่น่าเกินปลายปี 2565"

 

เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

 

เช่นเดียวกับ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย  กล่าวว่า  เราต้องยอมรับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกและการแข่งขัน เราไม่พัฒนาประเทศเพื่อนบ้านก็พัฒนาเราจะติดหล่ม สิ่งเหล่านี้การพัฒนาถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่พอการพัฒนาแล้วก็ขึ้นอยู่กับเกษตรกรแล้วว่าข้าวที่พัฒนาแต่ละพันธุ์ตอบโจทย์เกษตรกรหรือไม่

 

"เพราะถ้าตอบโจทย์ก็ได้ไปต่อ แล้วถ้าไม่ตอบโจทย์ก็จะหายไป ประเทศไทยมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวมาเรื่อยๆ พันธุ์ไหนที่ยังคงอยู่ก็ยังอยู่ แล้วพันธุ์ไหนที่ไม่ตอบโจทย์ศักยภาพของชาวนา ไม่ตอบโจทย์ตลาดก็จะหายไป แต่ข้าวเมืองไทยที่ปลูกออกมาไม่เคยกองเน่าเสียอยู่กลางทุ่งนา มีการรับซื้อหมดเพียงแต่ต่างกันเรื่องของคุณภาพแล้วราคาเท่านั้น"

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การร่วมมือกันระหว่างสมาคมผู้รวบรวมฯ กับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นการต่อมือกันกับทางสถาบันวิจัย มาสู่มืออาชีพ มืออาชีพก็คือ พวกที่ทำกับพวกเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยสมาคมเมล็ดพันธุ์ข้าวผู้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่จะขยายสู่มือเกษตรกร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพัฒนาจะหยุดไม่ได้ต้องมีการพัฒนา แต่ประโยชน์ที่ได้ก็คือตัวเกษตรกร ประเทศชาติ เราไม่กังวลในเรื่องอื่นๆ ขอให้มีการพัฒนา”

 

"ผมคิดว่าเราต้องตื่นกันในเรื่องนี้เพราะว่าโดยหลักน้ำหนักจะอยู่ที่กรมการข้าวเป็นหลัก กรมการข้าวในปีหนึ่งจะมีการรับรองพันธุ์มาเรื่อยๆ แต่ผมคิดว่าผมอยากจะเห็นระหว่างกรมการข้าว สถาบันทางวิชาการ หรือนักวิจัยต่างๆ พัฒนาพันธุ์ข้าวกันออกมา แล้วส่งต่อไปยังกรมการข้าว แต่เราต้องให้รางวัลกับพวกนักวิจัยพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสถาบัน หรือนักวิจัยของกรมการข้าวเอง เป็นเงินรางวัล  ไม่ใช่ถ้วย ไม่ใช่กล่องกระดาษ"

 

เพื่อที่นักวิจัยจะได้มีกำลังใจในการพัฒนาและมีเป้าหมาย แล้วพันธุ์ตรงนี้พอได้มา กรมการข้าวจะต้องรับช่วงต่อ จะใช้วิธีซื้อหรือวิธีใดใดก็แล้วแต่กรมการข้าวต้องมาดูแลต่อเพื่อให้พันธุ์ตัวนี้ขยายต่อไปแล้วมีความเสถียรภาพตลอดไป นี่จะเป็นเรื่องดี

 

ดร.ระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์

 

ด้าน ดร.ระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์  นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ในส่วนตัว “ข้าวพันธุ์หอมแม่โจ้ 9” น่าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากข้าวหอมแม่โจ้ 9  มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาจากข้าว หอมมะลิ 105 เพราะฉะนั้นมีคุณสมบัติความเป็นข้าวหอมสูง ประกอบกับปลูกได้ในพื้นที่ที่เป็นฤดูนาปรังได้ และฤดูนาปรังสามารถปลูกได้ 2-3 รอบต่อปี ราคาก็จะสามารถแข่งกับตลาดเพื่อนบ้านได้ รวมถึงผู้บริโภคในประเทศก็จะได้บริโภคได้ในราคาที่ย่อมเยา ถือเป็นโอกาสที่ดีของพี่น้องชาวไทยที่ประเทศไทยจะขยายตลาดในพันธุ์ข้าวพันธุ์นี้

 

“ข้าวหอมมะลิเดิมทีผลผลิตต่อปีต่อไร่ ประมาณแค่ 400 กิโลกรัมต่อปี แต่พันธุ์ข้าวแม่โจ้9 ได้ผลผลิตถึง 700 กิโลกรัมต่อไร่ ขั้นต่ำ แต่ถ้าได้ปัจจัยดีจะสูงถึง  1,000 กิโลกรัมหรือ 1 ตัน เพราะฉะนั้นปลูกได้ปีหนี่ง  2-3  รอบ เกษตรกรเองก็น่าจะมีความสุขด้วยกับรายได้ที่ได้จากการปลูกข้าวพันธุ์นี้ ถือว่าเป็นช่องทางอีกทางหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีฐานะที่ดีขึ้น

 

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

นายปราโมทย์  เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า  มองว่า ข้าวพันธุ์นี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ต้องดูก่อนกว่าอายุการผลิตเป็นอย่างไร เพราะเป็นพันธุ์ใหม่ที่เราเพิ่งจะได้ยิน ถ้าเกิดว่าดี อายุสั้น ได้ผลผลิตดี ชาวนาก็สนับสนุน ในเรื่องพันธุ์วิจัยข้าว ชาวนาอยากเห็นอย่างน้อยปีละ 1-2 พันธุ์ ให้ออกมาทุกปี ไม่ใช่ 10 ปี ได้แค่สายพันธุ์เดียว หรือ 2 สายพันธุ์ ช้าไป

 

"เพื่อให้ชาวนามีทางเลือก ที่จะปลูก แล้วมีตลาดที่รองรับส่งออกได้ ขายได้ นี่เป็นทางเลือกของชาวนาอยู่แล้ว แล้วถ้าพันธุ์ไหนไม่ดี ชาวนาก็เลิกปลูก เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าชาวนาปลูกแล้วได้ผลผลิตดี ขายมีกำไร แล้วสามารถลดต้นทุนได้ ก็เป็นสิ่งที่ชาวนาค้นหา ไม่ได้หยุดนิ่งที่จะมีพันธุ์ที่ตอบโจทย์ได้ปลูกทุกปี"

 

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

 

นายเจริญ   เหล่าธรรมทัศน์. นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  กล่าวว่า  ตอนนี้ความคิดไม่ว่าชาวนาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนต้องเข้าใจว่าประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องส่งออกข้าว เราผลิตข้าวได้ 20 ล้านตัน เราต้องส่งออก 8-10 ล้านตันทุกปี ไม่งั้นข้าวจะเหลืออยู่ในประเทศ แล้วราคาข้าวเปลือกก็จะไม่มีทางสูงขึ้นได้

 

"เพราะฉะนั้นถ้าเราส่งออกยิ่งมากและราคาข้าวเปลือกก็จะยิ่งดี ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน ถ้าเราจะขาย เราต้องแข่ง ไม่ใช่คิดอย่างเดียวว่าจะตั้งราคาขายอย่างไรก็ได้  เรามีคู่แข่งอย่างเวียดนาม มีคู่แข่งอย่างอินเดีย ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นเวลาจะแข่งของคุณภาพดีหรือไม่ ราคาเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่  ราคาสามารถซื้อได้ไหม นี่คือการแข่งขัน"

 

นายเจริญ กล่าวว่า แต่บ้านเราไม่เคยปรับปรุงเรื่องพันธุ์ข้าว 20-30 ปี  ตอนนี้เราต้องหันมาดูแลให้เราสามารถมีพันธุ์ข้าวที่ตลาดโลกต้องการ ในราคาที่แข่งขันได้ วันนี้เห็นข้าวพันธุ์นี้เป็นพันธุ์แรกที่มีประสิทธิภาพพอที่จะแข่งขันกับข้าวคู่แข่งได้ เช่นเวียดนาม นี่คือข้าวหอมแม่โจ้ 9  ปัจจุบันมีข้าวหอมชนิดเดียวที่ขายได้ดี ก็คือ ข้าวหอมมะลิ

 

"แต่เราไม่สามารถเอาข้าวหอมมะลิไปแข่งขันกับข้าวหอมของเวียดนามได้ เพราะผลผลิตต่อไร่ 300-400 กิโลกรัม ปลูกเป็นข้าวนาปี เป็นข้าวไวแสง เราไม่สามารถแข่งขันกับต้นทุนของเวียดนามได้เพราะฉะนั้นเราต้องมีข้าวพันธุ์ใหม่ที่สามารถแข่งขันได้แล้วคิดว่า ตอบโจทย์ เพราะสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตต่อไร่ 700-800 กิโลกรัม ทำให้ราคาสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ เชื่อว่ารูปลักษณ์ และคุณภาพการหุงต้ม เราสามารถที่จะมีสินค้าที่เข้าไปในตลาดแล้วเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ผมฝากความหวังไว้เยอะ ก็ช่วยผลักดันมาหลายปีแล้ว ในพันธุ์หอมแม่โจ้ 9"

 

วัลลภ มานะธัญญา

 

นาย วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด กล่าวว่า เราก็คิดว่ามีอนาคต ต้องลองไปให้ลูกค้าชิมก่อน และรับฟังความคิดเห็นว่าเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับในสายตาก็คิดว่ามีตลาด

 

มนัสทพงษ์ ห้วยหงษ์ทอง

เช่นเดียวกับ ด้าน มนัสทพงษ์ ห้วยหงษ์ทอง นายกสมาคมโรงสีข้าวสุพรรณบุรี กล่าวว่า ถ้าอนาคตผลผลิตต่อไร่ ข้าวแห้งได้ถึง 700 กิโลกรัมต่อไร่  ซึ่งเป็นทางเลือกของชาวนาที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตเพราะชาวนาปลูกข้าวหอมมะลิได้ ประมาณ 450 กิโลกรัม แต่ถ้าหอมแม่โจ้ 9 มีรสชาติที่นุ่มนวล นิ่ม ถูกปากคนไทย เพราะว่าในอนาคตนี่เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคและชาวนา ด้งนั้นทางโรงสีเมื่อชาวนาผลิตข้าว ยกตัวอย่างแม่โจ้ 9 โรงสีมีความพร้อมที่จะผลิตและมีความพร้อมที่จำหน่าย เพราะได้ชิมแล้วรสชาตินิ่ม ใช้ได้ และพร้อมที่จะรับข้าวจากชาวนาได้ทุกสายพันธุ์ ยิ่งจังหวัดสุพรรณบุรีรับได้หมด เพราะการแข่งขันสูงมาก

นิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์

 

นายนิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า "โรงสี" เป็นผู้แปรรูป เราสามารถสีข้าวได้ทุกพันธุ์ แต่ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าตอบโจทย์ลูกค้า หรือไม่ กับตอบโจทย์ผู้ผลิต หรือไม่ ซึ่งคำว่าการตอบโจทย์ในผู้ผลิตในที่นี้ ก็คือ เพิ่มผลผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง จะทำให้แข่งขันในตลาดได้ หากข้าวเรามีคุณภาพดี สามารถผลิตได้ดีในคุณภาพที่ถูกลงได้จะแข่งขันในตลาดได้

 

"ในส่วนชาวนาก็มีทางเลือก ตอนนี้สิ่งที่จะโฟกัสจริงก็คือ ไม่ใช่ราคาของสินค้า แต่ควรจะเป็นรายได้ของชาวนา คำว่ารายได้ก็คือไม่จำเป็นที่จะต้องขายข้าวในราคาที่แพงมาก แต่ชาวนาสามารถผลิตผลผลิตได้จำนวนมาก ก็จะทำให้มีรายได้มาก ด้วยผลผลิตที่ทางผู้วิจัย เคลมมาก็คือ ข้าวพันธุ์หอมแม่โจ้ ผลิตได้ 700 กิโลกรัมต่อไร่ข้าวแห้งก็น่าที่จะตอบโจทย์กับชาวนา"

 


เดชา นุตาลัย

 

เดชา นุตาลัย  อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า อย่างน้อยเป็นตัวเลือกให้เกษตรกรมีทางเลือกในการปลูกข้าวพื้นนุ่ม ที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคน่าจะชื่นชอบ ทั้งนี้ต้องพิจารณาดูก่อนว่าผลผลิตจะออกมามากหรือน้อย เพราะถ้าผลผลิตมีมาก ราคาก็ไม่สูงมากนัก แต่ถ้าผลผลิตมีน้อย เช่น กข43 หรือข้าวหอมมะลิ 105 ราคาก็จะแพง แต่ถ้าผลผลิตปริมาณข้าวหอมปทุมธานี ราคาก็จะใกล้เคียงกัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยว่าจะนิยมรับประทานแค่ไหน ซึ่งถ้าผู้บริโภคนิยมก็จะสามารถทำการตลาดได้ดีกว่า

 

สำหรับการรับรองพันธุ์ข้าว อยากจะให้มี ปีละ 2 พันธุ์ใหม่ออกมารับรอง เพื่อจะเป็นทางเลือก และอีกอย่างหนึ่ง หนอน แมลง พัฒนาไม่ทัน เพราะข้าวที่ทำมานาน เดิมที่เคยต้านทานหนอนและแมลง ต้านทานโรค ต่างๆ พอนานๆไป ก็เริ่มอ่อนแอลงๆ ไปเรื่อย ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆให้ทัน"

 

อารยา จิตตยานุรักษ์

 

นางอารยา จิตตยานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการร้านลุงคตพันธุ์ข้าว  กล่าวว่า จุดดีของข้าวพันธุ์นี้เป็นพันธุ์นุ่ม หอม ปกติ มีแต่ข้าวนุ่มอย่างเดียว หากผลผลิตดี มองว่าไปได้ ต้องดูที่ผลผลิต เพราะชาวนาจะมองแค่ผลผลิตเท่านั้น จากความรู้สึกที่อยู่กับชาวนา จากนั้นก็จะมาดูที่ราคา ถ้าผลผลิตไปตามคาดหมาย ข้าวพันธุ์หอมแม่โจ้ 9 ก็น่าจะเกิด ทั้งนี้ทั้งนั้น ขณะของกรมการข้าวเองก็ยังมีพลาด

 

ณรุจน์ นอยนารถ

 

ปิดท้าย นายณรุจน์ น้อยนารถ  ฝ่ายขาย ร้านธงชัยพันธุ์ข้าว  กล่าวว่า  ถ้าเป็นไปตามผลงานวิจัย ทั้งอายุข้าว  ทั้งลักษณะและผลผลิตที่ออกมา อาจจะพลิกวงการข้าวได้เลย แต่หลายคนก็ยังกังวล จะต้องรอดูของจริง มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ พื้นที่ภูมิภาค ประเทศ และดิน แตกต่างกัน รวมถึงสภาพอากาศด้วย ต้องรอลุ้น ส่วนตัวก็อยู่วงการนี้มา 20 กว่าปี ก็อยากเห็นให้พลิกวงการได้จริง แอบเชียร์ เพราะอยากให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น