สิ้นสุดมหากาพย์ "แหล่งเอราวัณ" ปตท.สผ.เตรียมเข้าพื้นที่ต้นปี 65

16 ธ.ค. 2564 | 12:36 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 19:50 น.
2.3 k

สิ้นสุดมหากาพย์แหล่งเอราวัณ ปตท.สผ.เตรียมเข้าพื้นที่ต้นปี 65 หลังยืดเยื้อมากกว่า 2 ปี ชี้ต้องใช้เวลาอีกราว 24 เดือน จึงจะผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามสัญญา

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเข้าพื้นที่แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณว่า ภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้ จะมีการลงนามในสัญญาต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าพื้นที่ในแหล่งเอราวัณกับบริษัท เชฟรอนฯ ผู้รับสัมมปทานปัจจุบัน โดยจะมีการลงนามในสัญญาและข้อตกลงต่าง ๆ ได้แก่ 
1.ข้อตกลงเพื่อเข้าพื้นที่ดำเนินการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของสิ่งติดตั้งที่รัฐจะรับมอบ (Operations Transfer Agreement) 
2.ข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 (Site Access Agreement 2) 
และ 3. สัญญาเพื่อให้ผู้รับสัมปทานเข้าพื้นที่ดำเนินการรื้อถอนในช่วงสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Asset Retirement Access Agreement) และหลังจากลงนามแล้ว และสามารถเข้าพื้นที่เแหล่งเอราวัณ เพื่อเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ได้ในเดือนมกราคม 2565

ทั้งนี้ บริษัทจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 24 เดือน ในการเคลื่อนย้ายและติดตั้งแท่นหลุมผลิต 8 แท่น การเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เจาะหลุมผลิตกว่า 100 หลุม จึงจะสามารถผลิตก๊าซฯ ได้ครบจากทั้ง 8 แท่น เพื่อทำให้กำลังการผลิตในแหล่งเอราวัณขึ้นถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต
สำหรับระยะเวลา 5 เดือนจากนี้ ก่อนที่ ปตท.สผ. จะเข้าเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในวันที่ 24 เมษายน 2565 บริษัทจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านการเป็นผู้ดำเนินการ (Operations Transfer) ซึ่งครอบคลุมขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การทดสอบสิ่งติดตั้งเดิมในแหล่งเอราวัณที่รัฐจะต้องรับมอบจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน 

ปตท.สผ. เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ต้นปี 65
และส่งให้กับ ปตท.สผ. เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯ ด้วยความราบรื่นและปลอดภัย รวมทั้ง การถ่ายโอนข้อมูลที่มีผลต่อการผลิต ระบบความคุมการผลิต การทำงานของอุปกรณ์การผลิตและการบำรุงรักษา ระบบปฏิบัติการและการขนส่งนอกชายฝั่ง ระบบความปลอดภัย เป็นต้น

“หลังจากสัมปทานแหล่งเอราวัณหมดอายุลง ในวันที่ 23 เมษายน 2565 จะเข้าสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิตโดยที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในระยะแรกของการผลิตก๊าซฯ จำเป็นต้องผลิตตามศักยภาพที่ผู้รับสัมปทานคงเหลือไว้ เพื่อความปลอดภัยกับการผลิตก๊าซฯ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์การผลิตเนื่องจากผู้รับสัมปทานหยุดการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ มาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ระดับการผลิตลดลงมาอย่างต่อเนื่อง”
นายมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ปตท.สผ.เตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่สามารถทำได้มาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ใช้เม็ดเงินไปแล้วถึง 10,000 ล้านบาท ในการเตรียมงานส่วนที่จะต้องเข้าพื้นที่ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็น การก่อสร้างแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) จำนวน 8 แท่น การจัดเตรียมท่อส่งก๊าซและเรือติดตั้ง รวมถึง การขุดลอกร่องน้ำที่ตื้นเขินเพื่อให้การเคลื่อนย้ายแท่นหลุมผลิตจากฝั่งไปที่แหล่งเอราวัณได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
แม้สิ้นสุดสัญญาจากผู้รับสัมมปทานรายเดิมแล้ว จะยังไม่สามารถทำให้การผลิตก๊าซฯ เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็ตาม แต่ได้พยายามอย่างเต็มความสามารถ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานกับประเทศให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ดี ได้มีแผนการรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงที่แหล่งเอราวัณ ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต ที่อยู่ระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิตแบบขั้นบันไดภายในระยะเวลา 24 เดือน เพื่อให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปตท.สผ. ได้เตรียมผลิตก๊าซฯ จากโครงการบงกช และโครงการอาทิตย์ เพิ่มเติมอีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่กล่าวมา
และเพื่อตอบสนองการใช้พลังงานของประเทศ โดยปตท.สผ. ยังคงหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับเงื่อนไขการผลิตก๊าซฯ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตจากสาเหตุที่ได้กล่าวข้างต้น