ราคาน้ำมันดิบปี 65 พุ่ง71-76 เหรียญฯ/บาร์เรล ปตท.ชี้ความต้องการเพิ่มขึ้น

25 พ.ย. 2564 | 15:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2564 | 22:10 น.

ปตท. คาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 71-76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลปี 65 สูงขึ้นกว่าปีนี้ที่เฉลี่ย 68-71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ระบุความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2565 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 71 -76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่เฉลี่ย 68-71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมองว่าทิศทางราคาน้ำมันในปี 65 จะปรับเพิ่มสูงขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 (covid-19) คลี่คลายลง 
และการขาดแคลนพลังงานทั้งก๊าซและถ่านหินทำให้ธุรกิจไฟฟ้าจะเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปกพลัส และฝั่งสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันในปีหน้าอ่อนตัวลงจากไตรมาส 4/64 

ขณะที่ค่าการกลั่น (GRM) ในปีหน้าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่เฉลี่ย 3-4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจรเอเชีย (Asian Spot LNG) เฉลี่ย 17.8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่เฉลี่ย 15.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เนื่องจากสำรอง LNG ในยุโรปต่ำ และแนวโน้มของโลกหันมาใช้พลังงานสะอาดทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล ทำให้มีความต้องการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นในจีน
ส่วนทิศทางราคาปิโตรเคมีทั้งโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ในปี 65 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงยกเว้นพาราไซลีน (PX) เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงกลางปีหน้า ทำให้ราคาเม็ดพลาสติก HDPE เม็ดพลาสติก PP และเบนซิน ปรับตัวลง 2-4% จากปีนี้ ด้าพาราไซลีนปรับเพิ่มขึ้น 2-4%

นายธนพล กล่าวต่อไปอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปตท.ในปี 65 เติบโตดีขึ้นจากปีนี้ หลังความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีฟื้นตัว โดยในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิต (E&P) ราคาขายจะได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และต้นทุนปรับตัวดีขึ้น หลังจาก ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เข้าลงทุนในแหล่งโอมาน 61 ที่มีต้นทุนต่ำ 
ด้านธุรกิจก๊าซฯ คาดว่าความต้องการใช้จะฟื้นตัวจากปีนี้เล็กน้อย โดยมองว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ใน 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตเฉลี่ย 3% และทิศทางราคาก๊าซฯ ในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันเตาที่สูงขึ้น รวมถึงราคา Spot LNG ที่สูงขึ้น