ต้านโอนสนามบินให้ ทอท. ธุรกิจอุดรฯรวมพลร้องกรอ.ใหญ่

09 ธ.ค. 2564 | 05:35 น.
1.6 k

ภาคเอกชนจับมือนครอุดรธานี ระดมสมองต้านโอนสนามบินให้ทอท.บริหาร ส่งหนังสือจังหวัดเรียกประชุมกร อ.ภาค ขอมติเพื่อเสนอ กรอ. ส่วนกลางต่อไป นายกฯ เล็กอุดรโวย “ไม่เป็นธรรม” โอนบริการสาธารณะให้บริษัทในตลาดไปสร้างกำไร เสนอตัวของบริหารเองร่วมกับทย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมเวสสุวรรณ สำนักงานเทศบาลนครอุดรธานี มีการประชุมหารือ กรณีกระทรวงคมนาคมจะโอนภารกิจสนามบินอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.หรือ AOT) เข้ามาบริหาร แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.)

 

โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมหารือ ประกอบด้วย ตัวแทนหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาธุรกิจไทย-ลาว ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียง ชมรมธนาคารจังหวัด ตัวแทนเทศบาลนครอุดรธานี เป็นต้น 

ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอุดรธานี ประชุมหารือเพื่อคัดค้านการโอนภารกิจสนามบินอุดรฯให้AOT

ต้านโอนสนามบินให้ ทอท. ธุรกิจอุดรฯรวมพลร้องกรอ.ใหญ่

นายวีระพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ประชุมมีความเป็นห่วงและไม่เห็นด้วย ที่จะมีการโอนภารกิจบริหารสนามบินอุดรธานี ไปให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ดูแล เนื่องจากจะส่งผลกระทบกับทางจังหวัด และชาวอุดรธานี มากกว่า โดยที่ ทอท.เองก็ไม่มีแผนโครงการพัฒนาสนามบินอุดรธานี ที่ชัดเจนแต่อย่างใด

 

“ทอท. เป็นบริษัทในตลาด หลักทรัพย์ ที่ต้องมุ่งสร้างรายได้เข้าองค์กรเพื่อให้เกิดผลกำไรเป็นหลัก มีตัวอย่างสนามบินหลายแห่งที่ ทอท. รับโอนไปบริหาร ไม่พบว่ามีการพัฒนาอย่างที่ควร อีกทั้งสนามบินทุกแห่งที่ ทอท. เข้าไปบริหาร ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการต่าง ๆ ในสนามบิน ปรับราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว ค่าเช่าพื้นที่ขายสินค้าในสนามก็แพงขึ้น กลายเป็นภาระที่ผู้บริโภคจำต้องแบก ทั้งที่สร้างด้วยเงินภาษีประชาชน”

ต้านโอนสนามบินให้ ทอท. ธุรกิจอุดรฯรวมพลร้องกรอ.ใหญ่

ต้านโอนสนามบินให้ ทอท. ธุรกิจอุดรฯรวมพลร้องกรอ.ใหญ่
 ทั้งนี้ สนามบินอุดรธานี เป็นสนามบินในสังกัดกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ที่มีผลประกอบการดีเป็นอันดับสอง รองจากสนามบินกระบี่ และเป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสาน รายได้ที่เกิดขึ้นส่งคืนเข้ารัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนาสนามบินขนาดเล็ก หรือสนามบินท้องถิ่นแห่งอื่น ๆ รวมทั้งไม่ปรากฏว่า ทอท. สนใจจะรับโอนภารกิจสนามบินขนาดเล็ก ที่ยังขาดทุนอยู่ไปบริหารบ้าง เพื่อจะได้ยกระดับและพัฒนาเป็นสนามบินที่สร้างผลประกอบการที่ดี

 

ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นจะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะที่เป็นจังหวัดหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 เพื่อขอให้มีการเรียกประชุม กรอ. จังหวัด/กรอ. กลุ่มจังหวัด เพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว โดยภาคเอกชนมีจุดยืนไม่เห็นชอบกับแนวทางดังกล่าว เพื่อให้กรอ.จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ได้เสนอเรื่องเข้ากรอ.ใหญ่ในส่วนกลาง เพื่อแจ้งรัฐบาลและส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทบทวนแนวคิดนี้ใหม่อีกครั้ง

 

“นอกจากนี้จะทำหนังสือรายงานผลการปรึกษาหารือครั้งนี้ ไปยังนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลภาคอีสานด้วยอีกทางหนึ่ง” นายวีระพงษ์กล่าวย้ำ

 

ด้านดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า สนามบินอุดรธานีตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี จึงควรดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดและชาวอุดรธานี ไม่เห็นชอบกับแนวคิดจะโอนภารกิจสนามบินให้ ทอท. เข้ามาบริหาร ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม นำร่อง 3 สนามบิน คือ อุดรธานี กระบี่ บุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 นี้

 

“เทศบาลนครอุดรธานีเคยทำเรื่องขอบริหารสนามบินอุดรฯแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี เห็นว่าท้องถิ่นควรที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่ ในการบริหารดูแลจัดการภารกิจของสนามบินของท้องถิ่นเองร่วมกับ ทย. หรือควรที่จะต้องมีส่วนร่วมในการบริหาร ไม่ใช่ให้เอกชนมาทำหน้าที่บริหารสาธารณประโยชน์ของรัฐ เพื่อรับผลประโยชน์จากสิ่งสาธารณะเหล่านั้น โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับผลปะโยชน์อะไรเลย เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม” นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีย้ำ

 

หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,738 วันที่ 9-11 ธันวาคม พ.ศ.2564